วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

สมาธิ

สมาธิ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต แต่สมาธิในความหมายของการฝึกปฏิบัติ คือการทำใจนิ่งๆ ว่างๆ เฉยๆ ร่างกาย ยิ่งเคลื่อนไหว ยิ่งแข็งแรง แต่จิตใจ หาก หยุด นิ่ง เฉย ได้แล้วจะยิ่งมีพลัง เหมือนการรวมโฟกัสของแสง ให้เป็นจุดเดียวกัน ย่อมมีพลัง ที่จะจุดไฟให้ติดได้ การทำสมาธิมีปรากฏในหลายศาสนา ซึ่งรวมถึง พุทธศาสนา ฮินดู และ เต๋า และยังคงรวมถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น โยคะ

การทำสมาธิในลัทธิเต๋า

การทำสมาธิในพุทธศาสนา

การทำสมาธิ ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ถึง 40 วิธี ทุกวิธีล้วนเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียว คือการทำให้จิตใจสงบแต่ที่วิธีการมีเยอะนั้น ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สมถกรรมฐาน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นฐานนิสัยของแต่ละคน โดยพระพุทธองค์ทรงแบ่งพื้นฐานนิสัยไว้ 6 ประเภท เรียกว่า จริต 6 อาทิเช่น คนที่มีราคะจริต คือหลงไหลในของสวยงามง่าย ควรพิจารณาความไม่งาม(อสุภะ) ความไม่เที่ยง- ความไม่แน่นอนในสังขารต่างๆ(อนิจจัง) เพื่อให้ใจไม่ติดในราคะได้ง่าย จะได้ทำสมาธิได้ง่าย เพราะเมื่อหลับตาทำสมาธิแล้ว ใจเราชอบอะไร คุ้นอะไร ก็จะมีภาพนั้นปรากฏขึ้นมาในใจ

ภาพของท่านโพธิธรรม กำลังนั่งสมาธิ ซาเซน.

การทำสมาธิ ไม่ต้องคอยให้ใจสงบ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ถ้าต้องการความต่อเนื่องยาวนาน และให้ได้ผลการปฏิบัติที่ดีนั้น มีหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนดังนี้

  1. อาบน้ำ ให้เรียบร้อย เตรียมร่างกายให้สะอาด
  2. หามุมสงบ ไม่เสียงดัง ไม่อึกทึก ไม่มีการรบกวนจากภายนอกได้ง่าย มีอุณหภูมิพอดีๆ
  3. นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวกที่อื่นๆ จะเป็นที่หน้าตักก็ได้
  4. หลับตาเบาๆ ให้ขนตาชนกัน แต่อย่าเม้มตา
  5. ขยับท่าทางให้รู้สึกว่าสบาย
  6. สังเกตตัวเองว่ามีการเกร็งไหม ถ้ายังมีให้ทำข้อ 5 ใหม่
  7. เมื่อสบายดีแล้ว ให้ภาวนาในใจ
  8. จะใช้คำบริกรรมว่า ว่า พุท เมื่อหายใจออกให้กำหนดว่า โธ ก็ได้ หรือจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ เช่น สัมมา-อรหัง นะมะ-พะธะ ก็ได้เช่นกัน (วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการของโบราณจารย์)
  9. จะใช้ความรู้สึกจับกับลมหายใจ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้
  10. ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบา สบาย
  11. ในระหว่างการปฏิบัติธรรม จะมีเรื่องฟุ้งซ่านเข้ามาเป็นระยะ อย่าสนใจ เมื่อได้สติ ก็ทำข้อ 7 8 9 ใหม่
  12. เมื่อใจเริ่มสงบดีแล้ว จะมีความรู้สึกแปลกๆ ก็ให้ทำเฉยๆไปเรื่อยๆ
  13. บางทีคำภาวนาจะหายไป ก็ไม่เป็นไร ให้ทำใจเฉยๆไปเรื่อยๆ
  14. เมื่อใจนิ่งได้ระดับนึง จะเริ่มเห็นความสว่างจากภายใน เป็นการเห็นด้วยใจ ก็ให้ทำใจเฉยๆต่อไป
  15. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือสงสัยอะไร ให้ทำใจเฉยๆอย่างเดียว
  16. หากมีข้อสงสัย หรือมีคำถาม หรือมีภาพ มีสิ่งผิดปกติ ให้ทำตามข้อ 14

ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง

การเพ่งกสิณเพื่อการทำสมาธิภาวนา

แม้แนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาจะมีอยู่ด้วยกันหลายแนวทาง แต่การที่จิตจะเข้าสู่สมาธิได้นั้นจิตจำเป็นจะต้องมีเครื่องรู้ (อุบายกรรมฐาน)[1]เพื่อ ให้จิตใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่สมาธิ ซึ่งอุบายกรรมฐานก็มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่สิบกองและอีกสี่อุบายวิธี แต่ละอุบายวิธี ตางมีความสำคัญและสามารถนำไปใช้ให้เกิดผลได้จริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะถูกจริตกับกรรมฐานกองใด และหากว่าใครมีจริตตรงกับกรรมฐานกองใด ก็จะสามารถนำกรรมฐานกองนั้นไปใช้อย่างได้ผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งในเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนา และเรื่องการเข้าฌานทั้งรูปฌาณและอรูปฌานได้ ทรงชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการใช้อุบายกรรมฐานไว้ทั้งหมดสี่ สิบกองด้วยกัน ซึ่งภายใต้กรรมฐานทั้งสี่สิบกองนั้นจะประกอบไปด้วยกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่อง กับการเพ่งกสิณอยู่ถึงสิบกอง อีกทั้งการเพ่งกสิณยังเป็นกรรมฐานกองแรกๆ ของกรรมฐานทั้งหมด (เป็นอุบายวิธีต้นๆ ในการปฏิบัติกรรมฐาน)นั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงว่า การเพ่งกสิณจัดเป็นอุบายวิธีในการทำสมาธิที่มีดีอยู่ในตัวอย่างแน่นอน

สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ การ ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่า ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติย่อมต้องการที่จะฝึกหรือปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะฝึกหรือปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว จำเป็นจะต้องทราบว่าวัตถุประสงค์ของการฝึกหรือปฏิบัติเพื่ออะไร ทั้งนี้การฝึกสมาธิในแนวทางที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธินั้น โดยความหมายทั่วไป หมายถึงการตั้งจิตมั่นชอบ ซึ่งในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสัมมาสมาธิไว้หลายแห่ง โดยได้อธิบายความหมาย ตลอดจนลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ หลายแห่งดังนี้

สัมมาสมาธิเป็นไฉน ?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า ถึงปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ[2]

จาก ความที่ยกนำมากล่าวนี้ แสดงว่าสัมมาสมาธิ จะมีความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน จนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้ว จะมีสภาวะที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ และเป็นอุเบกขา จนมีสติบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกยังกล่าวถึงลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ดังนี้

  1. ลักษณะของสัมมาสมาธิคือการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน[3]
  2. สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ [4]

ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก[5] ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตที่เป็นสัมมาสมาธิว่า

สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.

จาก ลักษณะของสัมมาสมาธิที่กล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกยังแสดงให้เห็นว่า สัมมาสมาธิมีคุณูปการแก่ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติ โดยเมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านและมีความตั้งมั่นแห่งจิตแล้ว ย่อมขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสได้ ดังความในพราหมณสูตร[6]กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า

สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. จาก ความข้างต้น แสดงให้ทราบว่า สัมมาสมาธิสามารถขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสและความฟุ้งซ่าน สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ ดังความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวไว้ดังนี้

สัมมา สมาธิ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสมาธิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธิและความฟุ้งซ่านนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมตั้งมั่นสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ[7]

สรุปได้ว่า การจะฝึกสมาธินั้น บุคคลจะต้องยึดหลักการฝึกแบบสัมมาสมาธิ กล่าวคือ ฝึกเพื่อการทำให้ใจสงบ ระงับจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ก็จะสามารถทำให้การฝึกและปฏิบัติของบุคคลนั้น ถูกต้อง ตรงต่อพระพุทธธรรมคำสอน จนสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย คือพระนิพพานได้ ทั้งนี้ การที่จะจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะต้องไม่คิดหรือตรึกในสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตฟุ้งซ่านว่า จะมีลักษณะที่ซัดส่ายไปข้างนอก คือซัดส่ายไปในอารมณ์ คือกามคุณ ทำให้มีความพอใจในกามคุณ 5 อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งทำให้จิตระคนปนเจือไปด้วยความตรึกไปในกาม[8]


Image
วิธีทำสมาธิเบื้องต้น

พระธรรมโกศาจารย์
(ท่านเจ้าคุณพุทธทาส อินทปัญโญ)

Image

ในกรณีปกติให้นั่งตัวตรง
(กระดูกสันหลังจรดกันสนิทเต็มหน้าตัดของมันทุกๆข้อ)


๑. ศรีษะตั้งตรงตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่งจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรหรือไม่ก็ตามขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนง่วงนอนได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะคนขี้ง่วงให้ทำอย่างลืมตานี้แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับของมันเองในเมื่อถึงขั้นที่มันจะต้องหลับ หรือจะทำอย่างหลับตาเสียตั้งต่ต้นก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้นจะมีผลดีกว่าหลายอย่าง แต่ว่าสำหรับบางคนรู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะพวกที่ยึดถือในการหลับตาย่อมไม่สามารถทำอย่างลืมตาได้เลย

๒. มือปล่อยวางไว้บนตักซ้อนกันตามสบาย ขาขัดหรือซ้อนกันโดยวิธีที่จะช่วยยันน้ำหนักตัวให้นั่งได้ถนัดและล้มยาก ขาขัดอย่างซ้อนกันธรรมดา หรือจะขัดไขว้กันนั้นแล้วแต่จะชอบหรือทำได้ คนอ้วนจะขัดขาไขว้กันอย่างที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชรนั้น ทำได้ยากและไม่จำเป็น ขอแต่ให้นั่งคู้ขาเข้ามา เพื่อรับน้ำหนักตัวให้สมดุลล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ยากๆแบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับเมื่อจะเอาจริงอย่างโยคีเถิด

๓. ในกรณีพิเศษสำหรับคนป่วยคนไม่ค่อยสบายหรือแม้แต่คนเหนื่อย จะนั่งอิงหรือนั่งเก้าอี้หรือเก้าอี้ผ้าใบสำหรับเอนทอดเล็กน้อย หรือนอนเลย สำหรับคนเจ็บไข้ก็ทำได้ ทำในที่ไม่อับอากาศ หายใจได้สบายไม่มีอะไรกวนใจเกินไป

๔. เสียงอึกทึกที่ดังสม่ำเสมอ และไม่มีความหมายอะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ไม่มีอุปสรรค เว้นแต่จะไปยึดถือเอาว่าเป็นอุปสรรคเสียเอง เสียงที่มีความหมายต่างๆ เช่น เสียงคนพูดกันนั้นเป็นอุปสรรคแก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียงไม่ได้ ก็ให้ถือว่าไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไปก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง

๕. ทั้งที่ตามองเหม่อดูปลายจมูกอยู่ก็สามารถรวม ความนึกหรือความรู้สึก หรือเรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนดจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองได้ คนที่ชอบหลับตา ก็หลับตาแล้วตั้งแต่ตอนนี้ คนที่ชอบลืมตาลืมไปได้เรื่อยจนมันค่อยๆหลับของมันเองเมื่อเป็นสมาธิมากขึ้นๆ

๖. เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในขั้นแรกหัด ให้พยายามหายใจให้ยาวที่สุดที่จะยาวได้ด้วยการฝืนทั้งเข้าและออกหลายๆครั้ง เสียก่อน เพื่อจะได้รู้ของตัวเองให้ชัดเจนว่าลมหายใจที่มันลากเข้าลากออกเป็นทางอยู่ ภายในนั้น มันลากถูหรือกระทบอะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่ามันไปรู้สึกว่าสุดลงที่ตรงไหนที่ในท้อง โดยเอาความรู้สึกที่กระเทือนนั้นเป็นเกณฎ์พอเป็นเครื่องกำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้

๗. คนธรรมดาจะรู้สึกลมหายใจกระทบปลายจะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้นเป็นที่สุดข้างนอก ถ้าคนจมูกแฟบ หน้าหัก ริมฝีปากบนเชิด ลมจะกระทบริมฝีปากบน อย่างนี้ก็ให้กำหนดเอาที่ตรงนั้นว่าเป็นที่สุดท้ายข้างนอก แล้วก็จะได้จุดทั้งข้างนอกและข้างใน โดยกำหนดเอาว่าที่ปลายจมูกจุดหนึ่งที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจได้ลากตัวมันเองไปมาอยู่ระหว่างสองจุดนี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ

๘. ทีนี้ทำใจของเราให้เป็นเหมือนอะไรที่คอยวิ่งตามลมนั้นไม่ยอมพรากทุกครั้งที่ หายใจทั้งขึ้นและลงตลอดเวลาที่ทำสมาธินี้ จัดเป็นขั้นหนึ่งของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี่ก่อนว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กล่าวมาแล้วว่าเริ่มต้นทีเดียวให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุด และแรงๆ และหยาบที่สุดหลายๆครั้ง เพื่อให้พบจุดหัวท้ายแล้วพบเส้นที่จะลากอยู่ตรงกลางๆให้ชัดเจน

๙. เมื่อ จิตหรือสติ จับหรือกำหนดลมหายใจที่เข้าๆ ออกๆ ได้โดยทำความรู้สึกที่ๆ ลมมันกระทบลากไปแล้วไปสุดลงที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้าหรือกลับออกก็ตามดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อนให้การหายใจนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหายใจอย่างธรรมดา โดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้นคงกำหนดที่ลมได้ตลอดเวลา ตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อแกล้ง หายใจหยาบแรงๆ นั้น เหมือนกัน คือ กำหนดได้ตลอดสายที่ลมผ่านจากจุดข้างในคือสะดือ หรือท้องส่วนล่างก็ตาม ถึงจุดข้างนอกคือปลายจมูก หรือปลายริมฝีปากบนแล้วแต่กรณี ลมหายใจจะละเอียดหรือแผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนดได้ชัดเจนอยู่เสมอไปโดยให้การกำหนดนั้นละเอียดเข้ามาตามส่วน

๑๐. ถ้าเผอิญเป็นว่าเกิดกำหนดไม่ได้ เพราะลมหายใจละเอียดเกินไปก็ให้ตั้งต้นหายใจให้หยาบ หรือแรงกันไปใหม่ แม้จะไม่เท่าทีแรกก็เอาพอให้กำหนดได้ชัดเจนก็แล้วกัน กำหนดกันใหม่จนให้มีสติรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจไม่มีขาดตอนให้จนได้ คือจนกระทั่งหายใจอยู่ตามธรรมดาไม่มีฝืนอะไรก็กำหนดได้ตลอด มันยาวหรือสั้นแค่ไหนก็รู้ มันหนักหรือเบาเพียงไหนก็รู้พร้อมอยู่ในนั้น เพราะสติเพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ติดตามไปมาอยู่กับลมตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำการบริกรรมใน ขั้น "วิ่งตามไปกับลม" ได้สำเร็จ

๑๑. การทำไม่สำเร็จนั้นคือ สติ หรือความนึก ไม่อยู่กับลมตลอดเวลา เผลอเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มารู้เมื่อมันไปแล้ว และก็มีรู้มันไปเมื่อไร โดยอาการอย่างไร เป็นต้น พอรู้ก็จับตัวมันมาใหม่และฝึกกันไปกว่าจะได้ขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อยแล้วค่อยฝึกขั้นต่อไป

๑๒. ขั้นต่อไปซึ่งเรียกว่า ขั้นที่สอง หรือ ขั้น "ดักดูอยู่แต่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น จะทำต่อเมื่อทำขั้นแรกข้างต้นได้แล้วเป็นดีที่สุด หรือใครจะสามารถข้ามมาทำขั้นที่สองนี้ได้เลยก็ไม่ว่า ในขั้นนี้จะให้ สติหรือความนึก คอยดักกำหนดอยู่ตรงที่ใดแห่งหนึ่งโดยเลิกการวิ่งตามลมเสีย ให้กำหนดความรู้สึกเมื่อลมหายใจเข้าไปถึงที่สุดข้างใน คือสะดือ ครั้งหนึ่งแล้วปล่อยว่างหรือวางเฉย แล้วมากำหนดรู้สึกกันเมื่อลมออกมากระทบที่สุดข้างนอก คือปลายจมูกอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ปล่อยว่างหรือวางเฉย จนมีการกระทบส่วนสุดข้างในคือสะดืออีก ทำนองนี้เรื่อยไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง

๑๓. เมื่อเป็นขณะที่ปล่อยวาง หรือวางเฉยนั้น จิตก็ไม่ได้หนีไปอยู่บ้านช่องไร่นา หรือที่ไหนเลยเหมือนกัน แปลว่า สติคอยกำหนดที่ส่วนสุดข้างในหนึ่ง ข้างนอกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นปล่อยเงียบหรือว่าง เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เลิกกำหนดข้างในเสีย คงกำหนดแต่ข้างนอก คือที่ปลายจมูกแห่งเดียวก็ได้ สติคอยเฝ้ากำหนดอยู่แต่ที่จะงอยจมูกไม่ว่าลมจะกระทบเมื่อหายใจเข้าหรือเมื่อ หายใจออกก็ตาม ให้กำหนดรู้ทุกครั้ง สมมติเรียกว่า เฝ้าแต่ตรงปากประตูให้มีความรู้สึกครั้งหนึ่งๆ เมื่อลมผ่านออกนั้นว่างหรือเงียบ ระยะกลางที่ว่างหรือเงียบนั้น จิต ไม่ได้หนีไปอยู่ที่บ้านช่องหรือที่ไหนอีกเหมือนกัน

๑๔. ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำบริกรรมใน ขั้น "ดักอยู่แต่ในที่แห่งหนึ่ง" นั้นได้สำเร็จ จะไม่สำเร็จก็ตรงที่จิตหนีไปเสียเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันกลับเข้าไปในประตู หรือเข้าประตูแล้วลอดหนีไปทางไหนเสียก็ได้ ทั้งนี้เพราะระยะที่ว่างหรือเงียบนั้น เป็นไปไม่ถูกต้องและทำไม่ดีมาตั้งแต่ข้างต้นของขั้นนี้ เพราะฉะนั้น ควรทำให้ดีหนักแน่นและแม่นยำมาตั้งแต่ขั้นแรก คือ ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้นทีเดียว

๑๕. แม้ขั้นต้นที่สุดหรือที่เรียกว่า "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้น ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายสำหรับทุกคน และเมื่อทำได้ก็มีผลเกินคาดมาแล้วทั้งกายและใจ จึงควรทำให้ได้และทำให้เสมอๆ จนเป็นของเล่น อย่างการบริหารกายมีเวลาสองนาทีก็ทำ เริ่มหายใจให้แรงจนกระดูกลั่นก็ยิ่งดี จนมีเสียงหวีดหรือซูดซาดก็ได้ แล้วค่อยบ่อนให้เบาๆ ไปจนเข้าระดับปกติของมัน

๑๖. ตามธรรมดาที่คนเราหายใจอยู่นั้นไม่ใช่ระดับปกติ แต่ว่าต่ำกว่าหรือน้อยกว่าปกติโดยไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะเมื่อทำกิจการงานต่างๆ หรืออยู่อิริยาบถที่ไม่เป็นอิสระนั้น ลมหายใจของตัวเองอยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าปกติที่ควรจะเป็นทั้งที่ตนเองไม่ ทราบได้ เพราะฉะนั้นจึงให้เริ่มด้วยหายใจอย่างรุนแรงเสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยให้เป็นไปตามปกติ อย่างนี้จะได้ลมหายใจที่เป็นสายกลางหรือพอดี และทำร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติด้วย เหมาะสำหรับจะกำหนดเป็นนิมิตของอานาปานัสสติในขั้นต้นนี้ด้วย

๑๗. ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การบริกรรมขั้นต้นที่สุดนี้ ขอให้ทำจนเป็นของเล่นปกติสำหรับทุกคน และทุกโอกาสเถิดจะมีประโยชน์ในส่วนสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ อย่างยิ่งแล้วจะเป็นบันไดสำหรับขั้นสองต่อไปอีกด้วย แท้จริงความแตกต่างกันในระหว่าง ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กับขั้น "ดักดูอยู่เป็นแห่งๆ" นั้น มีไม่มากมายอะไรนัก เป็นแต่การผ่อนให้ประณีตเข้า คือ มีระยะการกำหนดด้วยสติน้อยแต่คงมีผล คือ จิตหนีไปไม่ได้เท่ากัน

๑๘. เพื่อให้เข้าใจง่าย จะเปรียบกันกับพี่เลี้ยงที่ไกวเปลเด็กอยู่ข้างเสาเปล ขั้นแรกก็จับเด็กใส่ลงในเปลแล้วเด็กยังไม่ง่วง ยังคอยจะดิ้นหรือลุกออกไปจากเปล ในขั้นนี้พี่เลี้ยงจะต้องคอยจับตาดูแหงนหน้าไปมา ดูเปลไม่ให้วางตาได้ซ้ายทีขวาทีอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เด็กมีโอกาสตกลงมาจากเปลได้ ครั้นเด็กชักจะยอมนอนคือไม่ค่อยจะดิ้นรนแล้ว พี่เลี้ยงก็หมดความจำเป็นที่จะต้องแหงนหน้าไปมา ซ้ายทีขวาที ตามระยะที่เปลไกวไปไกวมา พี่เลี้ยงคงเพียงแต่มองเด็กเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนเท่านั้นก็พอแล้ว มองแต่เพียงครึ่งหนึ่งๆ เป็นระยะๆ ขณะที่เปลไกวไปมาตรงหน้าตนพอดี เด็กก็ไม่มีโอกาสลงจากเปลเหมือนกันเพราะเด็กชักจะยอมนอนขึ้นมาดังกล่าวแล้ว

๑๙. ระยะแรกของการบริกรรม กำหนดลมหายใจในขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นี้ก็เปรียบกันได้กับระยะที่พี่เลี้ยงต้องคอยส่ายหน้าไปมาตามเปลที่ไกวไม่ ให้วางตาได้ ส่วนระยะที่สองที่กำหนดลมหายใจเฉพาะที่ปลายจมูกหรือที่รียกว่า ขั้น "ดักอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น ก็คือขั้นที่เด็กชักจะง่วงและยอมนอนจนพี่เลี้ยงจับตาดูเฉพาะเมื่อเปลไกวมา ตรงหน้าตนนั้นเอง

๒๐. เมื่อฝึกหัดมาได้ถึงขั้นที่สองนี้อย่างเต็มที่ ก็อาจฝึกต่อไปถึงขั้นที่ผ่อนระยะการกำหนดของ สติ ให้ประณีตเข้าๆ จนเกิด สมาธิชนิดแน่วแน่ เป็นลำดับไปจนถึง ฌานขั้นใดขั้นหนึ่งได้ ซึ่งพ้นไปจากสมาธิ อย่างง่ายๆในขั้นต้น สำหรับคนธรรมดาทั่วไปและไม่สามารถนำมากล่าวรวมกันไว้ในที่นี้เพราะเป็น เรื่องละเอียดรัดกุม มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนต้องศึกษากัน เฉพาะผู้สนใจถึงขั้นนั้น ในขณะนี้เพียงแต่ขอให้สนใจในขั้นมูลฐานกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นของเคยชินเป็นธรรมดาอันอาจจะตะล่อมเข้าขั้นสูงขั้นไปตามลำดับใน ภายหลัง


สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ

ขอให้ฆราวาสทั่วไปได้มีโอกาสทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจ สมความต้องการในขั้นต้นเสียขั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือ มีความเป็นผู้ประกอบตนอยู่ในมรรคมีองค์แปดประการได้ครบถ้วน แม้ในขั้นต้น ก็ยังดีกว่าไม่มีเป็นไหนๆ กายระงับลงไปกว่าที่เป็นกันอยู่ตามปกติก็ด้วยการฝึกสมาธิขั้นสูงขึ้นไปตาม ลำดับๆ เท่านั้น และจะได้พบ "สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ" อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ไม่เสียทีที่เกิดมา

Image
วิธีทำสมาธิแบบง่ายๆ
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
วัดอัมพวัน
ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

Image

ทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มีพลังมีประโยชน์ในปัจจุบัน คือทำให้ใจสบาย คลายทุกข์ หนักแน่นมั่นคง อารมณ์แจ่มใส ความจำทำงานมีประสิทธิภาพ สุขภาพดี นอนหลับสบาย เรียนหนังสือเก่ง ที่สำคัญคือได้บุญ


วิธีนั่งสมาธิ


ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรงหลับตาเอาสติมาจับอยู่ที่สะดือ ที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่าพองหนอ ใจนึกกับท้องที่พอง ต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบหนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบ ต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอน จะต้องมีความอดทน เพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนา ความเจ็บ ปวด เมื่อย คัน เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอๆๆ เจ็บหนอๆๆ เมื่อยๆ คันหนอๆๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อยๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป

จิตเวลานั่งหรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่าน ต่างๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นเดียวกันว่า ดีใจหนอๆๆๆ เสียใจหนอๆๆๆ โกรธหนอๆๆๆ เป็นต้น

Image
สมาธิเพื่อชีวิต

โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

Image

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนของปัญญาชน
ไม่ใช่เป็นคำสอนของบุคคลผู้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลด้วยความงมงาย
ศาสนาพุทธสอนให้คนเรียนให้รู้ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ
ถ้าใครจะถามว่าธรรมะคืออะไร ? ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติคืออะไร ? ก็คือ กายกับใจของเรา

สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน
นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ
สอนสมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆ กันนี่
อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา
รู้ว่าธรรมชาติของกายอย่างหยาบๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย

Image
สมาธิตามธรรมชาติ

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนของปัญญาชน
ไม่ใช่เป็นคำสอนของบุคคลผู้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลด้วยความงมงาย
ศาสนาพุทธสอนให้คนเรียนให้รู้ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ
ถ้าใครจะถามว่าธรรมะคืออะไร ? ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติคืออะไร ? ก็คือ กายกับใจของเรา

สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน
นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ
สอนสมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆ กันนี่
อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา
รู้ว่าธรรมชาติของกายอย่างหยาบๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย

Image

สมาธิ.....เพื่ออะไร

ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่
บางทีเราอาจจะเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง
สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้จิตสงบนิ่ง
สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ
รู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะปัจจุบัน
สมาธิบางอย่าง เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต
เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ รู้เรื่องอดีต อนาคต

รู้อดีต หมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร
รู้อนาคต หมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปเป็นอะไร
อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้อดีต เป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ดังนั้น เราสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม

ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่
นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจเราเองซิ
อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก
ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร
สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป
แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ ต้องเห็นนี่ คือเห็นกายของเราเห็นใจของเรา

Image
หลักสากลของการปฏิบัติสมาธิ

การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา
มีหลักที่ควรยึดถือว่า
ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก
จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าใครจะทำอะไร มีสติตัวเดียว
เวลานอนลงไป จิตมันมีความคิดอย่างใด
ปล่อยให้มันคิดไปแต่ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ
อันนี้เป็นวิธีการทำสมาธิตามหลักสากล

ถ้ามีใครมาถามว่า ทำสมาธินี่คือทำอย่างไร ?
คำตอบมันก็ง่ายนิดเดียว การทำสมาธิคือ
การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก
หมายความว่า เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด
ให้มีสติสำทับไปที่ตรงนั้น เรื่องอะไรก็ได้
ถ้าเอากันเสียอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่าเราได้ทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา

Image
สมาธิ.....ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น สมาธิ.....ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น

ถ้าหากไปถือว่าสมาธิคือการนั่งหลับตาอย่างเดียว
มันก็ถูกกับความเห็นของคนทั้งหลายที่เขาแสดงออก
แต่ถ้าเราจะคิดว่าอารมณ์ของสมาธิคือ การยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร
มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน คือเรื่องชีวิตประจำวันนี้เอง
เราจะเข้าใจหลักการทำสมาธิอย่างกว้างขวาง

และสมาธิที่เราทำอยู่นี่ จะรู้สึกว่า
นอกจากจะไปนั่งหลับตาภาวนา หรือเพ่งดวงจิตแล้ว
ออกจากที่นั่งมา เรามีสติตามรู้
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
แม้ว่าเราจะไม่นั่งสมาธิอย่างที่พระท่านสอนก็ได้
เพราะว่าเราฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เวลาเรานอนลงไป
คนมีความรู้ คนทำงาน ย่อมมีความคิด
ในช่วงที่เรานอนนั่นแหละ เราปล่อยให้จิตเราคิดไป
แต่เรามีสติตามรู้ความคิดจนกระทั่งนอนหลับ

ถ้าฝึกต่อเนื่องกันทุกวันๆ เราจะได้สมาธิอย่างประหลาด
นี่ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ สมาธิจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์โลกให้เจริญ
แต่ถ้าหากจะเอาสมาธิมุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว
มันจะเกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที
แม้การงานอะไรต่างๆ มองดูผู้คนนี่ขวางหูขวางตาไปหมด
อันนั้นคือสมาธิแบบฤาษีทั้งหลาย

Image
ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา

ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่
สมมุติว่ามีครอบครัวจะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น
หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา
กลายเป็นความเมตตาปรานี ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ
เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่ง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง

พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ
จิตมันจะปฏิวัติตัวพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ
ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
ทีนี้บางทีพอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา
เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปั๊บ
จิตมันวูบวาบลงไปปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที
อันนี้คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน

แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน
หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว
สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อม และ
ไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย

Image
ทุกคนเคยทำสมาธิมาแล้ว

ทุกสิ่งทุกอย่างเราสำเร็จมาเพราะพลังของสมาธิ
ไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ สอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร

พวกเราเริ่มฝึกสมาธิมาตั้งแต่พี่เลี้ยงนางนม
พ่อแม่สอนให้เรารู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักอ่าน
รู้จักคนโน้นคนนี้ จุดเริ่มต้นมันมาแต่โน่น
ทีนี้พอมาเข้าสู่สถาบันการศึกษา
เราเริ่มเรียนสมาธิอย่างจริงจังขึ้นมาแล้ว

แต่เมื่อเรามาพบพระคุณเจ้า หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายนี้
ท่านจะถามว่า “เคยทำสมาธิไหม”
จึงทำให้พวกเราทั้งหลายเข้าใจว่า
เราไม่เคยทำสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน
เพราะท่านไปขีดวงจำกัดการทำสมาธิ
เฉพาะเวลานั่งหลับตาอย่างเดียว

Image
ไม่เป็นชาววัดก็ทำสมาธิได้

ใครที่ยังไม่มีโอกาสจะเข้าวัดเข้าวา
มานั่งสมาธิหลับตาอย่างที่พระท่านชักชวน
การปฏิบัติสมาธิเอากันอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
ทุกคนได้ฝึกสมาธิมาตามธรรมชาติแล้วตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา
ทีนี้เรามาเริ่มฝึกใหม่ นี่เป็นการเสริมของเก่าที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
อย่าไปเข้าใจผิด

ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ของจิต
เราทำให้สิ่งเหล่านี้ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น
เวลานอนลงไป จิตมันคิดอะไร ให้มันคิดไป
ให้มีสติไล่ตามรู้มันไปจนกระทั่งนอนหลับ
ปฏิบัติต่อเนื่องทุกวัน แล้วท่านจะได้สมใจอย่างไม่คาดฝัน

ในขณะทำงาน กำหนดสติรู้อยู่กับงาน
เวลาคิด ทำสติรู้อยู่กับการคิด
โดยถือการทำงาน การคิด เป็นอารมณ์ของจิต
โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จิตย่อมสงบ มีปีติ สุข
เอกัคคตาได้ ในโอกาสใดโอกาสหนึ่งจนได้ ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจทำจริง

Image
นักธุรกิจทำสมาธิกับการงาน

มีผู้หญิงมาหาหลวงพ่อแล้วมาบอกว่า
“หลวงพ่อหนูอยากจะฝึกสมาธิ แต่หนูนั่งสมาธิไม่เป็น”
หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณนั่งไม่เป็นก็ไม่ต้องนั่ง ให้ฝึกสติให้มันรู้อยู่กับ
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด”

ทีนี้เมื่อสมาธิมันเกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ ภายหลังมานี่
ความรู้สึกมันก็รู้สึกว่า เราทำอะไร พูด คิดอะไร มันเป็นสมาธิทั้งนั้น
มันก็ไปสอดคล้องกันเอง มองเห็นงานที่มันเคยยุ่งๆ ตั้งแต่ก่อน
เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ไปประสบความยุ่งเหยิงอย่างนั้น
จิตมันรู้สึกว่ามันไม่ยุ่ง มันสามารถแก้ไขปัญหาของมันได้

อย่างบางทีพอติดปัญหาปั๊บ กำหนดจิตมันวูบวาบไป
ปัญญาที่จะแก้ไขปัญหานั้นมันก็เกิดขึ้น
แม้แต่เกี่ยวกับเรื่องงานเรื่องการก็เหมือนกัน
อันนี้เราไปติดอยู่ตรงที่ว่า อย่าไปคิดเรื่องโลก
ให้คิดแต่เรื่องธรรม แต่ความจริงโลกน่ะเป็นอารมณ์ของจิต

ในเมื่อจิตตัวนี้รู้ความจริงของโลก
แล้วมันจะปลีกตัวไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก
และมันอาศัยโลกนั่นแหละ เป็นบันไดเหยียบไปสู่จุดที่อยู่เหนือโลก
โลกทั้งหลายนี่เป็นอารมณ์ของจิต กายและใจของเราก็เป็นโลก

สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เราประสบอยู่
เป็นเรื่องชีวิตประจำวันของโลก ในเมื่อเรามาฝึกสติให้รู้ทันโลกอันนี้แล้ว
จิตมันจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของโลก มันก็ปล่อยวาง
ถึงแม้ว่ามันจะอยู่กับโลก มันก็แตะๆ แตะๆ มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างนี่
เป็นแต่เพียงหน้าที่เท่านั้น แล้วมันจะจัดสรรตัวมันเองว่าเรามีหน้าที่อย่างไร
ควรจะรับผิดชอบอย่างไร มันจะปฏิบัติหน้าที่ไปตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

Image
นักเรียน นักศึกษาทำสมาธิในการเรียน

ขณะนี้นักเรียนทั้งหลายกำลังเรียน ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า
ทำอย่างไรเราจึงจะได้พลังของสมาธิ พลังของสติเพื่อสนับสนุนการศึกษา
หลวงตาจะสอนวิธีทำสมาธิในห้องเรียน สมมุติว่าขณะนี้หลวงตาเป็น
ครูสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายเพ่งสายตามาที่หลวงตา
ส่งใจมาที่หลวงตาแล้วก็สังเกตดูให้ดีว่าหลวงตาทำอะไรบ้าง
หลวงตายกมือหนูก็รู้ เขียนหนังสือให้หนูรู้ พูดอะไรให้หนูตั้งใจฟัง

ถ้าสังเกตจนกระทั่งกระพริบหูกระพริบตาได้ยิ่งดี เวลาเข้าห้องเรียนให้
เพ่งสายตาไปที่ตัวครู ส่งใจไปที่ตัวครู อย่าเอาใจไปอื่น เพียงแค่นี้
วิธีการทำสมาธิในห้องเรียน ถ้าพวกหนูๆ จำเอาไปแล้วปฏิบัติตาม
จะได้สมาธิตั้งแต่เป็นนักเรียนเล็กๆ ชั้นอนุบาล

ในตอนแรกนี่ การควบคุมสายตาและจิตไปไว้ที่ตัวครู
นี่อาจจะลำบากหน่อย แต่ต้องพยายามฝึก ฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญ
ภายหลังแม้เราจะไม่ตั้งใจ พอเห็นใครเดินผ่านหน้ามันจะจ้องเอาๆ
พอมาเข้าห้องเรียนแล้วพอครูเดินเข้ามาในห้อง
สายตามันจะจ้องปั๊บ ใจมันก็จะจดจ่ออยู่ตรงนั้น หนูลองคิดดูซิว่า
การที่มองที่ครู และเอาใจใส่ตัวครูนี่ เราเรียนหนังสือเราจะเข้าใจดีไหม
ลองคิดดู ทีนี้เมื่อฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว สายตามันยังจ้องอยู่ที่ตัวครู

แต่ใจจะมาอยู่ที่ตัวเราเอง มาตอนนี้ครูท่านสอนอะไร
พอท่านพูดจบประโยคนั้น ใจของเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปท่านพูดอะไร
เวลาไปสอบ อ่านคำถามจบ ใจของเราจะวูบวาบแล้วคำตอบมันจะผุดขึ้น
อันนี้เป็นสูตรทำสมาธิที่หลวงพ่อทำได้ผลมาแล้ว

Image

หลวงพ่อทำสมาธิในการเรียนสมัยเป็นเณร

อาจารย์องค์นั้นชื่อ อาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น
เห็นหลวงพ่อถือหนังสือเดินท่องไปท่องมาแบบเดินจงกรม ท่านก็ทักว่า
“เณร ถ้าจะเรียนก็ตั้งใจเรียน จะปฏิบัติก็ตั้งใจปฏิบัติ
จับปลาสองมือมันไม่สำเร็จหรอก”

ที่นี้เราก็อุตริคิดขึ้นมาว่า
“เอ๊ หลักของการเพ่งกสิณนี่ ปฐวีกสิณ เพ่งดิน อาโป เพ่งน้ำ
วาโย เพ่งลม เตโช เพ่งไฟ อากาศ เพ่งอากาศ วิญญาณ เพ่งวิญญาณ
ในตัวครูนี่มีกสิณครบ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ
เราจะเอาตัวครูเป็นเป้าหมายของจิต ของอารมณ์
เอาตัวครูเป็นอารมณ์ของจิต เป็นที่ตั้งของสติ เอามันที่ตรงนี้แหละ

Image

การเรียนคือการปฏิบัติธรรม

วิชาความรู้ที่นักศึกษาเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี่
มันเป็นสิ่งที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ สิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ
สิ่งนั้นคือสภาวธรรม สภาวธรรมอันนี้มันทำให้เราดีใจเสียใจเพราะมัน
เราท่องหนังสือไม่ได้ เราเกิดเสียใจน้อยใจตัวเอง
หนังสือที่เราท่องนั่นคือสภาวธรรม เราจำไม่ได้
นั่นคือสิ่งที่มันไม่เป็นไปตามความปรารถนา มันเข้าในหลักอนัตตา

บางทีอยู่ดีๆ เกิดเจ็บไข้ เราไปวิทยาลัยของเราไม่ได้
มันก็ส่อถึงอนัตตา อนิจจัง ทุกขังนั่นเอง เพราะฉะนั้น
เมื่อเรามาฝึกสติสัมปชัญญะของเรานี้ ให้มันรู้พร้อมอยู่กับปัจจุบัน
มันเป็นการปฏิบัติธรรม เดินเรารู้ ยืนเรารู้ นั่งเรารู้ นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เรารู้ เอาตัวรู้คือสติตัวเดียวเท่านั้น

แม้ในขณะที่เราเรียนหนังสืออยู่
เราตั้งใจจดจ่อต่อการเรียนในปัจจุบันนั้น นั่นก็เป็นการปฏิบัติสมาธิ
ทีนี้ความรู้ ความเห็น ที่เราจะพึงทำความเข้าใจ มันอยู่ที่ตรงไหน
มันอยู่ที่กายกับใจของเรานี่ ทำอย่างไรกายของเราจึงจะมี
สุขภาพอนามัยเข้มแข็ง ทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะปลอดโปร่ง
เมี่อมีปัญหาขึ้นมา ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติปัญญาแก้ไขปัญหา
หัวใจของเราได้ นี่มันอยู่ที่ตรงนี้ที่เราจำเป็นต้องเรียนให้มันรู้

Image

ทำสมาธิในการเรียนได้ผลอย่างไร

นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เป็นนักศึกษาในทุนที่หลวงพ่อ
ส่งไปเรียนเอง ตอนแรกเขาไม่อยากจะไปเรียน เพราะเขาคิดว่า
มันสมองของเขาไม่สามารถจะเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้
หลวงพ่อก็เคี่ยวเข็นให้เขาไป ในเมื่อเขารับปากว่าจะไปเรียน
หลวงพ่อก็บอกว่า “หนูไปเรียนมหาวิทยาลัยต้องฝึกสมาธิด้วย”
เขาก็เถียงว่า “จะให้ไปเรียนมหาวิทยาลัย
แล้วต้องให้ทำสมาธิ จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียน”

มันเกิดมีปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำว่า
การฝึกสมาธิแบบนี้ไม่ขัดต่อการศึกษา หลวงพ่อก็ให้
คำแนะนำเบื้องต้นว่า “เมื่อเวลาหนูเข้าไปอยู่ในห้องเรียน
ให้กำหนดจิตให้มีสติรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ถ้าหากมีจุดใดจุดหนึ่ง
ที่จะต้องเพ่งมองก็เพ่งมองไปที่จุดนั้น เช่น กระดานดำ เป็นต้น
เมื่ออาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน ให้เอาความรู้สึกและสายตา
ทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ ให้มีสติรู้อยู่ที่ตัวอาจารย์
เพียงอย่างเดียว อย่าส่งใจไปอื่น”

เขาใช้เวลาเรียนเพียง ๔ ปีก็จะจบแล้ว ทีแรกเขาคิดว่าเขาอาจจะ
เรียนถึง ๖ ปีกว่าจะเอาให้จบได้ แต่มันก็ผิดคาดทุกสิ่งทุกอย่าง
มันเปลี่ยน ความรู้สึกว่ามันสมองไม่ดีมันเปลี่ยนเป็นดีขึ้นมาหมด
ก็เป็นอันว่าเขาสามารถฝึกสมาธิ ให้จิตมีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ
เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาที่เขาเรียนอยู่ในปัจจุบันได้

ถ้านักศึกษาพยายามฝึกสมาธิแบบนี้ ผลพลอยได้จากการฝึก
ความเคารพ ความเอาใจใส่ ความกตัญญูกตเวที
ความรู้สึกซึ้งในพระคุณของครูบาอาจารย์มันจะฝังลึกลงสู่จิตใจ
เราจะกลายเป็นคนกตัญญูกตเวที ไม่อาจลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็มีแต่ความเคารพบูชาในครูบาอาจารย์
ลูกศิษย์ที่มีความเคารพในครูบาอาจารย์
การเรียนก็ทำให้เรียนได้ดีเกินกว่าที่เราคาดคิด

Image

ช่างประดิษฐ์ทำสมาธิในการประดิษฐ์

เมื่อไม่นานมานี้ มีคฤหบดีท่านหนึ่งอุตส่าห์นั่งรถมาจากกรุงเทพฯ
พอมาถึงเขาก็มาบอกหลวงพ่อว่า “ผมจะมาขอขึ้นครูกรรมฐานกับท่าน
ได้ทราบว่าท่านสอนกรรมฐานเก่ง”

หลวงพ่อก็ถามว่า “คุณมีอาชีพอะไร”
เขาตอบว่า “ผมมีอาชีพในการประดิษฐ์สิ่งของขาย”

“ไหนคุณลองเล่าดูซิว่าขณะที่คุณประดิษฐ์สิ่งของขายนั่นน่ะ
คุณคิดประดิษฐ์ของคุณอยู่นั่น มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”

เขาก็เล่าให้ฟังโดยยกตัวอย่างว่า
“สมมุติว่าผมจะสร้างตุ๊กตาสักตัวหนึ่ง
ผมก็มาคิดว่าจะทำใบหน้าอย่างนั้น ทรงผมอย่างนี้
รูปร่างลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็คิดไปตามที่ผมจะคิดได้
คิดไปคิดมามันมีอาการเคลิ้ม เหมือนกับจะง่วงนอน
แล้วก็มีอาการหลับวูบลงไป รู้สึกหลับไปพักหนึ่ง
ในขณะที่รู้สึกหลับไปพักหนึ่งนั่น จิตก็เกิดสว่าง
มองเห็นภาพตุ๊กตา ที่คิดจะสร้างลอยอยู่ข้างหน้า
ที่นี้จิตก็ดูของมันอยู่จนกระทั่งแน่ใจ
แล้วก็ถอนขึ้นมาตื่นขึ้นมาจากภวังค์”

ในช่วงที่จิตมันวูบนั่น นอนหลับไปแล้วเกิดฝันขึ้นมา
ฝันเห็นตุ๊กตาลอยอยู่ต่อหน้า เขาก็มาสร้างตุ๊กตาตามที่เขาฝันเห็น
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ส่งออกขายในท้องตลาดก็เป็นที่นิยมแก่ลูกค้า

หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณ คุณทำสมาธิเก่งแล้ว คุณไม่ต้องมาขึ้น
ครูกรรมฐานกับฉันก็ได้ ให้คุณทำสมาธิด้วยการประดิษฐ์ตุ๊กตา
ของคุณต่อไป นั่นแหละคือสมาธิที่คุณต้องการจะเรียนจากฉัน
ถ้าคุณต้องการจะให้สมาธิของคุณดียิ่งขึ้น ให้คุณสมาทานศีล ๕ เสีย
แล้วสมาธิของคุณจะเป็นไป เพื่อการละความชั่ว
ประพฤติความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดได้”

Image

ทำสมาธิโดยการบริกรรมภาวนา

หมายถึงการท่องคำบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัน เป็นต้น
ผู้ภาวนาท่องบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตสงบ
ประกอบด้วยองค์ฌาณ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
จิตสงบจนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างหายไป

เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งสว่างอยู่ ความนึกคิดไม่มี
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ พอรู้สึกว่ามีกาย ความคิดเกิดขึ้น
ให้กำหนดสติตามรู้ทันที อย่ารีบออกจากที่นั่งสมาธิ
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้ปัญญาเร็วขึ้น
ในช่วงนี้ถ้าเราไม่รีบออกจากสมาธิ ออกจากที่นั่ง
เราก็ตรวจดูอารมณ์จิตของเราเรื่อยไป โดยไม่ต้องไปนึกอะไร
เพียงแต่ปล่อยให้จิตมันคิดของมันเอง อย่าไปตั้งใจคิด

ที่นี้พอออกจากสมาธิมาแล้ว พอมันคิดอะไรขึ้นมา
ก็ทำใจดูมันให้ชัดเจน ถ้าจิตมันคิดไปเรื่อยๆ ก็ดูมันไปเรื่อยๆ
จะคิดไปถึงไหนช่างมัน ปล่อยให้มันคิดไปเลย
เวลาคิดไป เราก็ดูไปๆๆๆ มันจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มในความคิด
แล้วจะเกิดกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ

กายเบา กายสงบ ได้กายวิเวก
จิตเบา จิตสงบ ได้จิตวิเวก
ทีนี้จิตสงบแล้ว จิตเป็นปกติได้
ก็ได้อุปธิวิเวกในขณะนั้น

Image

บริกรรมพุทโธกับการตามรู้จิตคือหลักเดียวกัน

ภาวนาพุทโธเอาไว้ พอจิตมันอยู่กับพุทโธก็ปล่อยให้มันอยู่ไป
พอทิ้งพุทโธแล้วไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไป
แต่ให้มีสติตามรู้.....พุทโธที่เรามาท่องเอาไว้

๑. เพื่อระลึกถึงพระบรมครู
๒. เพื่อกระตุ้นเตือนจิตให้เกิดความคิดเอง


ทีนี้เมื่อจิตทิ้งพุทโธปั๊บ มันไปคิดอย่างอื่นขึ้นมาได้
แสดงว่าเขาสามารถหาเหยื่อมาป้อนให้ตัวเองได้แล้ว
เราก็ไม่ต้องกังวลที่จะหาอารมณ์มาป้อนให้เขา
ปล่อยให้เขาคิดไปตามธรรมชาติของเขา
หน้าที่ของเรามีสติกำหนดตามรู้อย่างเดียวเท่านั้น
นี่หลักการปฏิบัติเพื่อจะได้สมาธิ
สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ต้องปฏิบัติอย่างนี้

Image

อย่าข่มจิตถ้าจิตอยากคิด

ถ้าเราภาวนาพุทโธๆ แม้ว่าจิตสงบเป็นสมาธิถึงขั้นละเอียด
ถึงขั้นตัวหาย เมื่อสมาธินี้มันจะได้ผล
ไปตามแนวทางแห่งการปฏิบัติเพื่อมรรค ผล นิพพาน
ภายหลังจิตที่เคยสงบนี้มันจะไม่ยอมเข้าไปสู่ความสงบ
มันจะมาป้วนเปี้ยนแต่การยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ซึ่งอันนี้ก็เป็น
ประสบการณ์ที่หลวงพ่อเองประสบมาแล้ว
พยายามจะให้มันเข้าไปสู่ความสงบอย่างเคย มันไม่ยอมสงบ

ยิ่งบังคับเท่าไรยิ่งดิ้นรน นอกจากมันจะดิ้นแล้ว
อิทธิฤทธิ์ของมันทำให้เราปวดหัวมวนเกล้า
ร้อนผ่าวไปทั้งตัว เพราะไปฝืนความเป็นจริงของมัน
ทีนี้ภายหลังมาคิดว่า แกจะไปถึงไหน ปรุงไปถึงไหน เชิญเลย
ฉันจะตามดูแก ปล่อยให้มันคิดไป ปรุงไป ก็ตามเรื่อยไป

ทีนี้พอไปๆ มาๆ ตัวคิดมันก็คิดอยู่ไม่หยุด ตัวสติก็ตามไล่
ตามรู้กันไม่หยุด พอคิดไปแล้ว มันรู้สึกเพลินๆ
ในความคิดของตัวเอง มันคล้ายๆ กับ ว่ามันห่างไกล
ไกลไปๆๆ เกิดความวิเวกวังเวง กายเบา
จิตเบา กายสงบ จิตสงบ และพร้อมๆ กันนั้นน่ะ
ทั้งๆ ที่ความคิดมันยังคิดไวเร็วปรื๋อ
จนแทบจะตามไม่ทัน ปีติและความสุขมันบังเกิดขึ้น
แล้วทีนี้มันก็มีความเป็นหนึ่ง คือ จิตกำหนดรู้อยู่ที่จิต

ความคิดอันใดเกิดขึ้นกับจิตสักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง
ไปๆ มันไม่ได้ยึดเอามาสร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน
แล้วในที่สุดเมื่อมันตัดกระแสแห่งความคิดแล้ว มันวูบวาบๆ
เข้าไปสู่ความสงบนิ่งจนตัวหายเหมือนอย่างเคย จึงได้ข้อมูลขึ้นมาว่า
..... อ๋อ ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ศีลอบรมสมาธิ
สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต

ความคิดอันใดที่สติรู้ทันทุกขณะจิต ความคิดอันนั้นคือปัญญาในสมาธิ
เป็นลักษณะของจิตเดินวิปัสสนา พร้อมๆ กันนั้นถ้าจะนับตามลำดับของ
องค์ฌาน ความคิด เป็นตัววิตก สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด เป็นตัววิจาร
เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ และสุขย่อมบังเกิดขึ้นไม่มีปัญหา

ทีนี้ปีติเกิดขึ้นแล้ว จิตมันก็อยู่ในสภาพปกติ กำหนดรู้ความคิดที่
เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ก็ได้ความเป็นหนึ่ง ถ้าจิตดำรงอยู่ในสภาวะ
เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตดำรงอยู่ในปฐมฌาน คือ ฌานที่ ๑
ประกอบด้วยองค์ ๕ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

Image

ปล่อยจิตให้คิด เกิดความฟุ้งซ่านหรือเกิดปัญญา

ความคิดที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง เป็นวิตก สติรู้พร้อม เป็นวิจาร
เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ และความสุขย่อมเกิดขึ้นไม่มีปัญหา
ผลที่จะเกิดจากการตามรู้ความคิด ความคิดเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต
เป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น เราจะรู้สึกว่า
ความคิด เป็นอาหารของจิต ความคิด เป็นการบริหารจิต
ความคิด เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด

ความคิด เป็นนิมิตหมายให้เรารู้ว่าอะไรเป็นเรื่องทุกข์ เป็นอนัตตา
แล้วความคิดนี่แหละมันจะมายั่วยุให้เราเกิดอารมณ์ดี อารมณ์เสีย
เมื่อเรามองเห็นอารมณ์ดี อารมณ์เสีย มองเห็นอิฏฐารมณ์
อนิฏฐารมณ์ ที่ก่อเป็นตัวกิเลส ทีนี้เมื่อจิตมีอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์
มันก็มีสุข บ้าง ทุกข์บ้างคละกันไป

ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์อริยสัจ ถ้าจิตมันเกิดทุกข์ขึ้น ได้สติรู้พร้อม
มองเห็นทุกข์อริยสัจ ถ้าจิตมีปัญญา รู้สึกมันจะบอกว่า อ้อ !
นี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วมันจะดูทุกข์กันต่อไป
สุข ทุกข์ ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นสลับกันไป อันนี้คือกฎอริยสัจแล้ว
ในที่สุดจิตมีสติมีปัญญาดีขึ้น มันจะกำหนดหมายรู้ว่า
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ

แล้วจะมองเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปอยู่อย่างนั้น
ยังกิญจิ สมุทย ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ
ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า
สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา คือจุดนี้

Image

เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำจิตให้มีสิ่งรู้
ทำสติให้มีสิ่งระลึก พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต
แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้
ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ
และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ

ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์
ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้
รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์
ที่เกิดดับกับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น
สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงใน
ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ

คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่
เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์
เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต

ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่า
นี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่า
เป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร
ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน
เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย

ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา
ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น
จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ

โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

วัดป่าบ้านค้อ
ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
Image

๏ การเตรียมตัวนั่งสมาธิ

การเตรียมตัวนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้ง เราต้องจัดสถานที่ที่เราจะนั่งสมาธิให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้องกังวลภายในใจ
เสร็จ แล้วไหว้พระสวดมนต์จะย่อหรือพิศดารก็ตามความต้องการของเรา และแผ่เมตตาตนเมตตาสัตว์จบแล้ว ฆราวาสมีวิธีสมาทานศีล ๕ ต่อไป เพราะการสมาทานศีลเป็นอุบายวิธีที่จะรับรองความบริสุทธิ์ของตนในปัจจุบัน และเป็นอุบายเพื่อไม่ให้ใจได้มีความเศร้าหมองในการกระทำทางกาย วาจา ที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว และทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ปัจจุบันนี้เรามีศีลอันบริสุทธิ์แล้ว

ถึงหากเราพลั้งเผลอทำความชั่วทางกาย วาจา มาแล้วก็ตาม นั่นเป็นของอดีตที่ล่วงไปแล้ว เราอย่าไปคำนึงมาเป็นอารมณ์ ส่วนความดีที่เราบำเพ็ญมาแล้วมีการให้ทาน เคยได้รักษาศีล หรือเจริญเมตตาภาวนา หรือทำความดีในสิ่งใดใดก็ตาม นี้ให้เราหมั่นสำนึกบ่อยๆ เพื่อให้ใจเกิดความปีติยินดีและเป็นกำลังให้แก่ใจ เพื่อให้ติดต่อกับในปัจจุบันที่เราจะภาวนาอยู่ในขณะนี้

การสมาทานศีลด้วยเจตนาวิรัติ ให้ศีลขึ้นในตนเองขณะนี้ เพราะเราไม่มีเวลาและโอกาสอำนวยที่เราจะไปรับศีลจากพระได้ เราก็ต้องเจตนาวิรัติสมาทานศีลเอาด้วยตนเอง เพราะการเจตนาละเว้นจากความชั่วทางกายและความชั่วทางวาจานั้นแลเป็นตัวศีล

วิธีสมาทานศีล ๕ มีดังนี้

ให้ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ ครั้ง ต่อไปว่า

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัจชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

หากผู้ว่าคำบาลีไม่ได้ ให้นึกในใจทำเสียงเบาๆ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด
๒. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการลักเอาสิ่งของของผู้อื่น
๓. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการประพฤติผิดจากประเวณี
๔. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการกล่าวความไม่จริง
๕. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการดื่มสุราและยาเสพติดทุกชนิด

ทั้งนี้ เราต้องมีสัจจะ ความจริงใจในตัวเอง ศีลจึงจะตั้งอยู่ได้ สัจจะจะตั้งไว้อย่างไร ใจก็ต้องรักษาความจริงให้ได้

๏ วิธีนั่งสมาธิ

วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๑

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โธ

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า ธัม
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โม

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า สัง
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โฆ

ให้กำหนดทำสัก ๓-๗ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อเป็นอุบายให้พุทโธ ธัมโม สังโฆ มารวมกันที่ใจ ต่อไปให้กำหนดเพียงพุทโธคำเดียว ให้หายใจเป็นปกติตามที่เราหายใจอยู่ในท่าปัจจุบัน ให้มีสติกำกับคำบริกรรมและรู้เท่าทันกับลมหายใจ และให้ตั้งอยู่ในท่าเตรียมพร้อมอยู่สม่ำเสมอ อย่าเผลอตัว

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โธ

ในขณะใดที่เราไม่ได้ตั้งใจสูดลมหายใจเข้าเอง นึกว่า พุท แต่ลมหายใจได้ล่วงเข้าไปเสียก่อน ขณะนั้นให้รู้ตัวเองทันทีว่า ความตั้งใจเราขาด มีสติรู้ไม่ทัน หรือในขณะใดเราไม่ได้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมกับคำบริกรรมในขณะนั้น เราก็รู้ว่าเราเผลอสติและขาดความตั้งใจเช่นกัน ฉะนั้น จึงให้เราสูดลมหายใจเข้าเอง ให้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง

เมี่อเราขาดความตั้งใจเมื่อไร การกำหนดดูลมหายใจก็เผลอตัวทันที และให้เราตั้งใจตั้งสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าพร้อมกับบริกรรมเอง และตั้งสติปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมทั้งคำบริกรรมจนกว่าความตั้งใจการตั้งสติมีความชำนาญ ถ้าชำนาญแล้ว สติกับผู้รู้และลมหายใจ กับคำบริกรรมก็จะรู้เท่าทันกันเอง นี้เป็นวิธีที่ฝึกสติแบบรัดกุม

ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไรก็จะรู้ตัวทันที ทีแรกก็รู้สึกอยู่ว่าทำยากอยู่บ้าง แต่ก็ต้องฝึกกันบ่อยๆ เมื่อชำนาญแล้วก็จะเป็นธรรมดา การนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งก็จะคล่องตัวเพราะความเคยชิน นี้เป็นวิธีฝึกสติกับผู้รู้ให้เด่นโดยถือเอาลมหายใจเป็นนิมิตเครื่องหมาย เมื่อชำนาญแล้ว ต่อไปเราจะตัดคำบริกรรมออกให้เหลือเพียงความตั้งใจอันมีสติกับผู้รู้ กำหนดสูดลมหายใจปล่อยลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเพื่อจะได้สงบลงสู่ความละเอียด ต่อไป และความตั้งใจก็จะเข้มแข็งไปตามๆ กัน

Image

วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๒

วิธีที่ ๒ เราตัดคำบริกรรม คือพุทโธออก ให้เหลือเพียงความตั้งใจอันมีสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ลมหายใจหยาบก็รู้ว่าลมหายใจหยาบและกำหนดรู้ลมหายใจหยาบๆ นั้นต่อไป จนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียด เมื่อลมหายใจมีความละเอียดก็รู้ว่าลมหายใจมีความละเอียด และตั้งใจต่อไปจนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียดเต็มที่ นี้แลเรียกว่า เอกัคตารมณ์ คืออารมณ์เป็นหนึ่ง

เมื่อเรากำหนดลมหายใจละเอียดอยู่อย่างนี้ ก็แสดงว่าใจเรามีความละเอียดไปตามๆ กันด้วย ลมมีความละเอียดก็เพราะใจเรามีความละเอียด ลมก็มีความละเอียดไปตามๆ กัน ความละเอียดของใจ ความละเอียดของลมหายใจมาบรรจบกันเมื่อไร เมื่อนั้นรัศมีทางกายก็จะแสดงตัวทางกายในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ปรากฏร่างกายเราใหญ่ขึ้น พองขึ้นผิดปกติธรรมดา เช่น ขาแขนลำตัวศีรษะก็ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ เหมือนกับจะนั่งอยู่ที่ไหนตัวก็จะใหญ่อยู่ที่นั้น

ถ้าหากปรากฏว่ากายใหญ่ๆ ขึ้นดังกล่าว ก็ให้เราตั้งสติความกำหนดรู้ลมหายใจละเอียดนั้น อย่าให้เผลอ ไม่นานประมาณ ๕ นาที อาการความใหญ่ขึ้นทุกส่วนก็จะหายไปเอง บางทีนั่งภาวนาอยู่ปรากฏว่าสูงขึ้นๆ บางทีก็ปรากฏว่าเตี้ยลงๆ บางทีก็ปรากฏว่ากายหมุนตัว บางทีก็ปรากฏว่าเอนไปข้างนั้น และเอนไปข้างนี้ ทั้งๆ ที่เรายังมีสตินั่นเอง จะปรากฏว่ากายเรามีลักษณะใดก็ตาม นั่นคืออาการของใจ ที่แสดงออกมาทางกายเท่านั้น มันเกิดขึ้นเองและดับไปเอง บางครั้งก็จะปรากฏว่า ลมหายใจเล็กเข้าทุกทีๆ การหายใจก็จะปรากฏว่าหายใจสั้นเข้าทุกทีๆ ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนจากสมาธิทันที

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราไม่ต้องกลัวนั่นแหละ คือใจเรากำลังลงสู่ความสงบเต็มที่ ขอให้เรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจเล็กๆ นั้นไว้อย่าให้เผลอ ลมหายใจจะเล็กก็รู้ว่าลมหายใจเล็ก ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าลมหายใจสั้นและมีสติกำหนดรู้ จนกว่าลมหายใจจะหมดไปในวาระสุดท้าย เมื่อลมหายใจหมดไปแล้ว ก็จะไม่รู้ตนเองว่าเราอยู่อย่างไรเพราะกายไม่มี แต่ก็รู้อยู่เฉยๆ เท่านั้น

บางครั้งก็อาจจะเกิดแสงสว่างรอบตัวอย่างกว้างขวาง คำว่าตัวนั้นหมายถึงผู้รู้ในตัวนั่นเอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีกายเลยในขณะนั้น แต่เป็นธรรมชาติรู้และสว่างรอบด้าน ความเบาใจ ความสว่างภายในใจ ก็จะเจิดจ้าแพรวพราว ก็น่าอัศจรรย์ใจมาก เราจะหาสิ่งใดในโลกนี้ไม่ได้เลย และมีความสุขสงบอย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาที ก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ความสุขก็จะเกิดขึ้นที่ใจ ไม่มีความสุขใดในโลกนี้เสมอเหมือนความเบากายความเบาใจ และความสุขกายสุขใจแทบตัวจะลอย

ถ้าเป็นในลักษณะความสงบเช่นนี้ ถ้าผู้ไม่เคยคิดพิจารณาด้วยปัญญามาก่อนแล้ว ก็อยากจะอยู่ในความสุขนี้ต่อไป ถ้าใครเคยคิดพิจารณามาก่อนแล้ว ความสงบนี้ก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้เป็นอย่างดี และไม่ติดอยู่ในความสงบนี้เลย สมาธิคือความสงบนี้เอง ก็จะเป็นกำลังอุดหนุนปัญญาให้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

และขอย้ำเพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิด ขณะนี้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติและมีความมุ่งหวังและตั้งใจว่า เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว จะมีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อจะพิจารณาธรรมต่อไป ใครๆ ก็มุ่งหวังปัญญา จึงได้ตั้งหน้าตั้งใจทำสมาธิหวังความสงบเพื่อคอยให้ปัญญาเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่เคยพิจารณาในแง่ธรรมต่างๆ มาก่อน ถึงจะทำความสงบนั้นก็ทำได้ แต่สายทางความสงบของผู้ที่มีปัญญามาก่อนถึงจะสงบลึกจนถึงสมาบัติ ๘ ก็ตาม ผลที่ได้รับก็คือความสุขกายสุขใจ

บางทีอาจมีเครื่องเล่นคือ อภิญญาญาณ คือมีญาณหยั่งรู้ในแง่อดีต อนาคต และรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีจักขุญาณต่างๆ บ้าง โสตญาณบ้าง คือมองเห็นด้วยตาภายใน หูภายใน หรือแสดงฤทธิ์ในวิธีต่างๆ ได้ หรือหยั่งรู้วาระจิตของคนหรือสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นก็จะติดความรู้ในญาณของตนนั้นอย่างไม่รู้ตัว ญาณดังกล่าวนี้ก็จะทำให้คิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ง่ายที่สุด เพราะเชื่อในญาณของตัวเอง

เช่นในครั้งพุทธกาลมีพระ ๓๐ รูปไปเจริญสมถะเพื่อความสงบ เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว ก็มีความสุขกาย และสุขใจ และรักษาความสงบนั้นติดต่อกันได้หลายวัน ก็มาคิดว่าพวกเราหมด กิเลส ตัณหา อวิชชาแล้ว พวกเราได้ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว เพราะราคะตัณหาพวกเราไม่มี ไปเถอะ ไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าเพื่อจะรับคำพยากรณ์แล้วพากันเดินเข้ามาจวนจะเข้า วัด

พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกกับภิกษุ ๓๐ รูปนั้นให้เข้าไปพักกับป่าช้าก่อน ภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นก็พากันเข้าไปในป่าช้านั้นๆ เมื่อเขาเข้าไปก็บังเอิญพบกับหญิงตายหงายท้องแบบสดๆ ร้อนๆ เหมือนกับอาการนอนหลับ ผ้าชิ้นหนึ่งจะปกปิดร่างกายก็ไม่มี พระทั้ง ๓๐ รูป นั้นก็กรูเข้าไปรุมล้อมด้วยความอยากเห็น ต่างองค์ก็ต่างดูต่างองค์ก็ต่างคิดไปในอารมณ์แห่งความใคร่ ความกำหนัด ไฟของราคะจึงเกิดขึ้นภายในใจจนถึงขีดแดง ผลที่สุดอรหันต์ที่พากันคิดเอาเองก็แสดงตัวร้องโวยวายขึ้นทันทีว่า พวกเรายังมี ราคะ ตัณหา อวิชชาอยู่ จากนั้นก็พากันเจริญด้วยปัญญา พิจารณาด้วยกฎแห่งไตรลักษณ์ พิจารณาไปพิจารณามาด้วยปัญญาธรรมดา เมื่อใจเห็นจริงตามปัญญานี้แล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น ผลที่สุดก็บรรลุอยู่ในป่าช้านั้นเอง

เห็นไหมละท่าน สมาธิคือความสงบนั้นก็ทำให้เราเข้าใจผิดได้ นี้ในครั้งสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ก็ยังมีนักปฏิบัติที่มีความเข้าใจผิด ในผลการปฏิบัติในสมถะมาแล้วเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะความสงบนี้ ถ้าไม่มีครูอาจารย์องค์ที่ท่านผ่านไปแล้วเข้าแก้ไขก็ผิดได้ง่ายเหมือนกัน และติดในสมถะโดยไม่มีทางออก ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้ามีผู้ภาวนาเป็นเหมือนภิกษุ ๓๐ รูปแล้ว ก็จะไม่มีใครๆ เข้าแก้ไขได้เลย และก็จะเป็นอรหันต์ดิบอย่างนั้นต่อไปจนถึงวันตาย

เพราะในสมัยนี้ไม่มีซากศพแบบสดๆ ร้อนๆ นอนอยู่ตามป่าช้าเลย จำเป็นต้องทำความสงบต่อไปเรื่อยๆ พากันนั่งคอย นอนคอยตัวปัญญาให้เกิดขึ้นในใจ นับตั้งแต่วันปฏิบัติมาถึงเดี๋ยวนี้ ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดขึ้นกับเราหนอ พากันบ่นแล้วบ่นอีก คอยปัญญาแล้วปัญญาอีก ทำความสงบแล้วความสงบอีก สงบลึกเท่าไรก็ไม่ปัญญา จนนักภาวนาเกิดความอ่อนใจ ฉะนั้น ขอให้คิดสักนิดเพื่อได้พิจารณาว่า ในครั้งพุทธกาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ก็ตาม ในสมัยนั้นมีใครบ้าง องค์ไหนบ้าง ที่ทำสมาธิมีความสงบไปหน้าเดียว และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ นอกจากจะเป็นดังพระ ๓๐ รูปที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งนั้น

ถ้าหากพิจารณาหวนกลับความเป็นพระอริยะเจ้าของพระอรหันต์ที่เป็นมา ทุกองค์ก็ล้วนแล้วมีปัญญามาก่อนแล้วทั้งนั้น ในสมัยนี้ก็มีครูอาจารย์ที่มีความบริสุทธิ์ใจ อันดับแรกท่านก็พิจารณาด้วยปัญญามาก่อน แล้วจึงทำความสงบ เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ก็ตั้งใจคิดพิจารณาไปตามสรรพธรรม สรรพสังขารทุกชนิดให้เป็นไปตาม ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมัวมานั่งคอยนอนคอยให้มีปัญญาเกิดขึ้นเหมือนกับเราเลย มันจึงไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน หรือเหมือนกับเราขุดดินเตรียมหลุมมะพร้าวเสร็จแล้ว จะมัวมานั่งคอยนอนคอยให้ต้นมะพร้าวเกิดขึ้นจากหลุมนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ ผลไม้ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกชนิดที่เราต้องการจะให้มันเกิดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ต้องหาเชื้อมา ปลูกเอง มันจะเกิดขึ้นได้ไหม นี้เพียงให้ข้อคิดนิดเดียวเท่านั้น

Image

วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๓

วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้ภายในส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจเพ่งดูได้ง่าย ให้เอากายส่วนนั้นเป็นจุดยืนของสติ ให้สติกับผู้รู้ติดอยู่กับสตินั้นๆ อย่าให้เผลอ ถึงลมหายใจหรือคำบริกรรมมีอยู่ก็ให้ก็ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ถ้า เราไปจดจ่อที่ลมหายใจและคำบริกรรมแล้ว กายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้นก็จะเลือนลางไป ใจก็จะเขวจากกายที่เพ่งอยู่นั้นไป ใจก็จะไม่อยู่ในกายส่วนนั้นเลย

ฉะนั้นจึงให้สติกับผู้รู้ เพ่งดูกายส่วนนั้นอย่างใกล้ชิด จะเป็นตำหนิแผลเก่าๆ ก็ได้ จะเป็นส่วนด้านหน้าหรือส่วนด้านหลังก็ให้เราเลือกหาเอง เพื่อไม่ให้มีความขัดข้องหรือความรู้สึกภายในใจ ครั้งแรกก็ให้เราสมมติรู้ ตามสีสันและลักษณะกายส่วนนั้นๆ ตามความเป็นจริงว่ามีลักษณะนั้นๆ ส่วนหนังที่เป็นที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก ถ้าเรากำหนดดูให้รู้เห็นทั้งหมดนั้นไม่ได้ ก็เพราะว่าความตั้งใจและสติเรายังอ่อน

ฉะนั้น จึงให้กำหนดดูบางส่วน จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ได้ เพื่อให้ใจจดจ่อรู้เห็นในที่แห่งเดียว ให้เหมือนกันกับที่เราเอาเส้นด้ายสอดเข้ารูเข็ม ถ้าเราไม่ใช้สายตาเพ่งดู ก็จะไม่เห็นรูเข็มปลายเส้นด้ายนั้นเลย และไม่มีทางที่จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ ถ้าหากเราใช้สายตาจดจ่อกับรูเข็ม และปลายเส้นด้ายแล้ว เราก็จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ทันทีนี้ฉันใด

การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อจี้ลงในจุดนั้นๆ โดยสำนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกก่อน ถ้าชำนาญแล้วก็จะรู้เห็นในกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติกำหนดที่รู้เอง ถ้าความเคยชินกำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ต่อไป เราก็จะกำหนดกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นอยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้เห็นกายส่วนนั้นๆ เน่าเปื่อยไปทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานได้ดี

การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้กายได้ตั้งอยู่ในกายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา

Image
วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๔


วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจให้เห็นชัด วิธีนี้ก็เหมือนกันกับวิธีกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจขณะเดินจงกลมนั่นเอง แต่เรามากำหนดรู้อารมณ์ในขณะนั่งสมาธิ ย่อมเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนมากเพราะไม่มีความไหวตัวไปมา ความสั่นสะเทือนภายในกายไม่มี จึงสังเกตดูอารมณ์ภายในกายได้ง่ายและรู้ละเอียด อารมณ์แห่งความสุขก็รู้ชัด อารมณ์แห่งความทุกข์ก็รู้ชัด แม้แต่อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มีสติก็รู้ชัด อารมณ์แห่งราคะตัณหาก็รู้ชัดทั้งนั้น

อารมณ์ทั้งหมดนี้เป็นได้ทั้งเหตุ เป็นได้ทั้งผล หมุนไปได้รอบด้าน และหมุนไปได้ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ผลัดกันเป็นเหตุผลัดกันเป็นผลเสมอ เรียกว่า สันตติ คือ อารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว ที่สืบทอดให้กันอยู่เสมอ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นปลาย คือ หมุนไปเวียนมาไม่รู้ว่าอะไรอารมณ์ใหม่อารมณ์เก่า จึงเข้าใจเองว่า เป็นอารมณ์ใหม่ตลอดไป และตลอดเวลา จึงเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ทางไปทางมาของวัฏจักรนั่นเอง จึงเรียกว่าผู้หลงโลกหลงสงสาร ก็คือมาหลงอารมณ์ภายในใจนี่แหละเป็นเหตุ

อารมณ์ภายในใจนั้นยังไม่เป็นกิเลส ตัวกิเลส ตัณหา อวิชชาคือตัวก่อให้อารมณ์รัก อารมณ์ชังเกิดขึ้นที่ใจ มีในใจและตั้งอยู่ที่ใจเหตุนั้นการกำหนดรู้เห็นอารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อเราจะใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุของอารมณ์ เพื่อให้รู้สายทางของอารมณ์ได้ชัด และเพื่อให้ได้วิธีตัดสายลำเลียงและตัดสะพานของกิเลสตัณหาต่อไป ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าอารมณ์ภายในใจแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าเราจะตัดต้นทางด้วยวิธีใด หรือเหมือนกับเราต้องการคมมีดเราก็ต้องลับมีด ถ้าเราไม่ต้องการความร้อนเราก็ต้องดับไฟ ใจมีความทุกข์ เราก็ต้องหาวิธีดับทุกข์เพื่อไม่ให้ทุกข์เกิด ถ้าใจมีความทุกข์อารมณ์ของความทุกข์ก็แสดงออกมาที่ใจ ใจอยู่ที่ไหน อารมณ์ของใจก็จะอยู่ที่นั่น อารมณ์ของใจอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ในที่เดียวกัน

ถ้าเราอยากรู้ใจ เราก็ต้องจับอารมณ์ของใจไว้ให้ดี เหมือนกันกับไฟกับความร้อนของไฟ ใจกับอารมณ์ก์ต้องอยู่ด้วยกันฉันนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจนี้ไม่ใช่จะกำหนดอยู่นาน เพียงกำหนดรู้อารมณ์ของใจว่า เกิดจากเหตุอันนี้ๆ แล้วก็หยุดมาพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป เหมือนเราตรวจออกมาเห็นข้าศึกแล้วก็ตั้งศูนย์ยิงเข้าใส่ให้ถูกข้าศึกศัตรู ทันที เหมือนยิงเนื้อก็ไม่ต้องเล็งปืนไว้นาน เมื่อเรารู้ว่าไฟกำลังก่อตัวเราก็ต้องหาทางดับ ฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์เพื่อจะใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อจะตัดสายทางมาของกิเลสตัณหาคือความไม่อิ่มพอในกามทั้งหลายให้หมดไป แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตัดสะพานและทำลายกงกรรมของวัฏจักรให้ย่อยยับ และขาดจากการสืบต่อกันอย่างสิ้นเชิง

นี้ก็เพราะมาเห็นจุดเป้าหมายค่ายทัพของกิเลสตัณหาว่าเกิดจากเหตุอันนี้แล้ว จึงใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรเข้าไประเบิดค่ายให้มันดับไปทั้งเชื้อชาติโค รตตระกูลสูญพันธุ์โดยไม่มีชิ้นเหลือ เหมือนกันกับการทำสงครามเขาก็ต้องมองหาจุดสำคัญ เขาชกมวยก็ต้องมองหาเป้าที่จะน็อค และหวังชนะด้วยความมั่นใจถึงจะแพ้ไปในบางครั้ง ก็ตามแก้มือจนกว่าจะชนะเต็มที่ นี่แหละนักปฏิบัติถ้าปฏิบัติไม่จริง จะถูกกิเลสตัณหาน็อคจนไม่มีประตูจะสู้ ไม่ยอมฟิตซ้อมสติปัญญา ปล่อยให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำจนตัวแบน

ฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติผู้มีศักดิ์ศรี มีความตั้งใจมั่นหมายที่จะทำลายข้าศึกคือกิเลส เราก็ตั้งเข็มทิศหมุนไปให้ตรงในจุดภายในคืออารมณ์ของใจ เพื่อจะได้วางแผนกำจัดชะล้างมลทินของใจให้หมดไป

Image

๏ วิธีกำหนดคำบริกรรมประสานลมหายใจ

วิธีกำหนดสมาธิกับผู้รู้ประกอบคำบริกรรมเข้าประสานกับลมหายใจ ดังนี้ ขออธิบายสั้นๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น อันดับแรกให้ตั้งใจโดยมีสติว่าเราจะตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลม หายใจเข้าว่า พุท เราตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายออกว่า โธ แต่ลมหายใจของเรามีอยู่ถึงเราไม่ตั้งใจดู มันก็หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น เราจึงมากำหนดเพียงให้เป็นอุบายของสติกับผู้รู้ และคำบริกรรมกับลมหายใจให้อยู่ในกรอบเดียวกันเท่านั้นนี้เป็นวิธีฝึกสติ เพื่อให้สติมีความเข้มแข็ง จึงให้ทำด้วยความตั้งใจ คือเราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายใจเข้าเอง เราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายออกเอง เวลาใดเราไม่ได้ตั้งลมหายใจเข้าเอง ถือว่าสติเราตามไม่ทัน หายใจออกเองก็ถือว่าเราขาดสติ

ฉะนั้น จึงให้เรามีสติตั้งใจหายใจเข้าเอง มีสติตั้งใจหายใจออกเอง ถ้าชำนาญแล้วไม่ยาก ต่อไปก็รู้เท่าทันกันเอง นี่คือเหตุเข้าใจขั้นต้น เมื่อเราชำนาญในลมกับคำบริกรรมแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจหยาบหรือละเอียด ถ้าลมหายใจยังหยาบอยู่ก็ให้ดูลมไปก่อน ถ้าลมหายใจมีความละเอียดแล้ว สติของเราก็ไม่เผลอรู้เท่าทันลมได้ดี เราก็ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย ให้มาดูลมหายใจเข้าออกอยู่เฉพาะลมเท่านั้น เมื่อใจกับลมละเอียดแล้ว มันจะแสดงออกมาทางกาย มีลักษณะต่างๆ เช่น ปรากฏว่ามีกายใหญ่บางส่วน หรือใหญ่ทั้งหมดภายในกาย หรือเป็นกายเล็กบางทีสูงขึ้น บางทีเตี้ยลง ถ้าเป็นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่าไปกลัว นั่นเป็นอาการของใจ แสดงออกมาทางกายให้รีบตั้งสติกับผู้รู้ให้รู้ลมให้ละเอียดเข้าไปอีก

เมื่อลมละเอียดเต็มที่แล้ว มันจะแสดงขึ้นมาอีกวิธีหนึ่งคือ ลมหายใจมันจะน้อยเข้าทุกที เล็กเข้าทุกที และระบบการหายใจจะหายใจสั้นเข้าทุกที ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนตัวทันที ถ้าเป็นเช่นนี้เราต้องไม่กลัว นั่นแหละใจกำลังจะสงบ จะเห็นความอัศจรรย์ของตัวเอง ให้รีบตั้งสติรู้อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลมหายใจน้อยก็รู้ ลมหายใจสั้นก็รู้ ลมจะเล็กเหมือนใยบัวก็รู้ ลมหายใจจะสั้นและอยู่ในลำคอเท่านั้น พอสุดท้ายลมหายใจก็จะหมดทันทีเมื่อลมหมด ความสงบใจนั้นก็หมดภาระกับลมหายใจ มีแต่ความสงบของใจ เต็มไปด้วยความสว่างรอบตัว แต่ไม่ปรากฏเห็นกายตัวเองเลย มีแต่ความสว่างในใจสบายและมีความสุขเท่านั้น

ความสุขที่ใจมีความสงบนั้น ไม่มีความสุขใดในโลกจะเสมอ เหมือนดังพุทธภาษิตว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขนี้เป็นความสุขไม่นานก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ผลของความสงบนั้นยังปรากฏอยู่ ถ้าผู้ไม่มีรัศมีของปัญญาแฝงไว้ที่ใจ ก็อยากสงบอยู่อย่างนั้นตลอดไป และติดใจความสงบนั้นๆ ถ้าผู้มีรัศมีของปัญญามีเชื้อติดอยู่ที่ใจก็สามารถเริ่มพิจารณากายต่อไปได้ ไม่ติดอยู่กับความสุขนั้นๆ เลย


๏ สรุปเรื่อง

จึงขอสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอีกครั้ง สมาธิความตั้งใจมั่น กับสมาธิความสงบแห่งใจทั้งสองนี้ มีความหมายหยาบละเอียดต่างกัน สมาธิความตั้งใจมั่น คือ เป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่ที่ใจ จะยืนจะเดินอยู่ที่ไหน สถานที่ใดก็มีสติรักษาใจ หรือนั่งอยู่ที่ไหน นั่งอยู่อย่างไร สถานที่เช่นไร ก็มีสติรักษาใจ หรือบางครั้งได้พูดกับเพศตรงข้ามก็มีสติ หรือเพศตรงข้ามหนีไปใจก็มีสติ

จึงสมกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในประโยคสุดท้ายว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อกิจที่จะได้พูดกับสตรีมีอยู่ ถ้าพูดก็พูดให้มีสติ นี้แล จึงได้ชื่อว่า สมาธิ ความตั้งใจมั่น ขั้นพื้นฐานสมาธิขั้นนี้ก็เริ่มพิจารณาได้แล้ว จะพิจารณาในความทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งตัวเองและคนอื่น ให้มีสภาพอย่างเดียวกัน จะพิจารณาธาตุสี่ ขันธ์ห้า จะพิจารณาให้เป็นอสุภะให้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ หรือเราจะยินดีพอใจกับวัตถุใด สิ่งใดๆ ก็ตาม ก็ยกเอาวัตถุสิ่งของนั้นมาพิจารณาให้ตกอยู่ในสภาพแห่งไตรลักษณ์

การพิจารณานี้ เราจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร จะนั่งจะเดินอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ ให้เรารู้ตัวเองอยู่เสมอว่า เรายังมีกิเลสตัณหา อย่าประมาทนอนใจสถานการณ์ใจเรายังไม่ปกติ เราก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ข้าศึกคือกิเลสตัณหาเข้ามา เราก็จะกำจัดทันที กิเลสตัณหาเกิดขึ้น สติปัญญาก็รู้เท่าทัน นั้นคือผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

สมาธิ คือ ความสงบ สมาธินี้ลึกลงไปอีก อันดับแรกเราก็ต้องอาศัยคำบริกรรมดังที่เราได้อธิบายมาแล้ว เมื่อใจสงบลงลึกถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ก็ต้องดำริหาอุบายปัญญามาพิจารณาทันที เรื่องที่จะพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว

ถ้าหากความสงบไม่ถึงอัปปมาสมาธิ จะทำอย่างไรก็สงบอีกไม่ได้ จะเป็นเพียงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินิดๆ หน่อยๆ เราก็เริ่มพิจารณาด้วยปัญญาได้เลย ในช่วงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินี้แหละ ปัญญากำลังวิ่งรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลายได้ดี เรื่องที่จะเอามาพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว

ถ้าเรากำหนดบริกรรมภาวนา แต่ในใจเราไม่มีความสงบขั้นไหนๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้กำหนดดูใจ และอารมณ์ภายในใจเราเองในขณะนั้น ว่ามีอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สงบ มีความขัดข้องอยู่ที่ไหน ใจเรายังผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีก็ติดอยู่กับกามคุณ มีรูปเป็นต้น หรือติดพันอยู่กับวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าใจเราผูกพันอยู่กับสิ่งนั้นแล้ว เราก็จับเอาสิ่งที่เรามีใจผูกพันนั้นแหละมาพิจารณาด้วยปัญญา ยกโทษภัยในของที่เราติดนั้นแหละมาพิจารณาให้ใจได้รู้ การพิจารณาด้วยปัญญาดังได้อธิบายมาแล้ว

Image

โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

Image

การเจริญภาวนานั้นมี 2 อย่าง คือ การเจริญสมถภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา เป็นการปฏิบัติเพื่อยังจิตให้เข้าถึงความสงบ โดยเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนกระทั่งจิตนิ่งสงบเป็นสมาธิ

วิปัสสนาภาวนา เป็นการเจริญสติให้เกิดปัญญา เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงว่า อ๋อ ! สังขารชีวิตนี้เป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เกิดดับ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้เรียกว่าเกิดปัญญา ปัญญาก็จะชำแรกจะประหารกิเลส เมื่อกิเลสลดน้อยลง ความร้อนใจทุกข์ใจก็ลดลง ความเย็นก็ปรากฏ ความสุขก็ปรากฏ ยิ่งความร้อนมอดลงไปดับสนิทเมี่อไร ก็พบกับความเย็นสนิทมากเท่านั้น เรียกว่านิพพาน

นิพพานก็คือความเย็น หรือความที่เพลิงทุกข์เพลิงกิเลสดับสนิทนั้นแหละ นิพพานก็เป็นไปตามชั้นของอริยบุคคล พระโสดาบันก็ละกิเลสได้ระดับหนึ่ง พระสกทาคามีก็ละกิเลสได้อีกระดับหนึ่ง พระอนาคามีก็ละกิเลสได้ยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง จนกระทั่งระดับพระอรหันต์ก็ดับเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ใจก็จะเย็นสงบสนิทอย่างชนิดความเร่าร้อนความเศร้าหมองจะไม่กำเริบขึ้นมาได้ อีกเลย

เราก็มาเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า คือเดินตามคำสอนของพระพุทธองค์ อย่าคิดว่าเราไม่มีหน้าที่ปฏิบัติ เพราะเราทำงาน เรายังอายุไม่มาก เราไม่ได้อยู่วัด ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อย่าไปคิดอย่างนั้น บุคคลใดที่มีความทุกข์ บุคคลใดที่ยังมีกิเลส บุคคลนั้นก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะดับความทุกข์ เพื่อที่จะชำระกิเลส เหมือนคนที่ไม่มีโรค ก็เห็นว่าหมอไม่จำเป็น แต่คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจ็บปวด ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยา ต้องได้รับการรักษาจากหมอ พวกเราก็มีโรคคือกิเลส จึงจำเป็นต้องมียารักษา ซึ่งธรรมโอสถที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ให้ก็คือ สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

ต่อไปนี้จะอธิบายแนวทางปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานพอเป็นสังเขป

แนวทางที่ 1 คือ เจริญสมถะก่อน แล้วต่อวิปัสสนาทีหลัง วิธีปฏิบัติก็คือทำจิตให้นิ่ง โดยเพ่งลมหายใจหรือเพ่งกสิณต่างๆ ซึ่งมีถึง 10 อย่าง หรือเพ่งอสุภะ เป็นต้น เพ่งจนกระทั่งได้ฌาน เมื่อได้ฌาน ก็จะมีปิติ มีความสุข มีสมาธิ เรียกว่า องค์ฌาน และจึงยกองค์ฌานนั้นๆ มาพิจารณา โดยน้อมมากำหนดที่ปีติ ที่ความสุข ที่สมาธิ ดูจิต ดูผู้รู้ ผู้ดูจนเห็นความเปลี่ยนแปลง เกิดดับ เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เข้าสู่วิปัสสนาได้

แนวทางที่ 2 คือ เจริญวิปัสสนาไปเลย แล้วสมถะก็ตามมาทีหลัง แนวทางนี้ก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นแหล่ะ วิธีการปฏิบัติก็คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหว เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก รู้สึกอะไรต่างๆ ก็เจริญสติระลึกรู้

แต่การระลึกนี้ต้องให้ตรงต่อสภาวะปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ลักษณะการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสเหล่านี้ เป็นสภาวะปรมัตถ์ ต้องกำหนดรู้ว่าลักษณะเห็น ลักษณะได้ยินเป็นอย่างไร ลักษณะรู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสที่เกิดที่ตัวเรานี้เป็นอย่างไร เมื่อเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง หย่อนบ้าง อ่อนแข็งบ้าง ไหวบ้าง สบาย ไม่สบาย คิดนึก ใจรู้สึกระลึกไปต่างๆ ก็ให้สังเกตไปทั้งหมด ที่เกิดที่กายที่ใจนี้ หมั่นสังเกต หมั่นระลึกบ่อยๆ สติก็จะเจริญขึ้น และจะเก่งเท่าทันต่อสภาวะ นอกจากนี้ ก็ให้ฝึกปล่อยวางอยู่ในตัว คือต้องรู้ละรู้ปล่อยรู้วาง ในที่สุดสมาธิก็จะเกิดขึ้นมาเอง

แนวทางที่ 3 คือ เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ซึ่งคนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่จะเหมาะกับประเภทนี้ เพราะคนในยุคปัจจุบันจะให้ไปเจริญสมถะจนได้ฌาน ให้จิตดับนิ่ง สามารถเข้าฌาน-ออกฌานได้คล่องแคล่วนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะต้องอยู่ในสถานที่สงบวิเวกจริงๆ มีคนเป็นส่วนน้อยที่อยู่ในสถานที่ไม่สงบ แต่สามารถทำจิตให้นิ่งจนได้ฌานได้

ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติตามแนวทางที่ 1 คือทำฌานก่อน ก็ทำไม่ได้ จะเจริญวิปัสสนาไปเลย ตามแนวทางที่ 2 ก็มีปัญญาไม่พอ ยังไม่รู้จักรูปนาม กำหนดไม่ถูก ไม่รู้ว่าสภาวะปรมัตถ์เป็นอย่างไร บัญญัติเป็นอย่างไร และบางคนถ้าไม่มีสมาธิบ้างเลย จิตก็ล่องลอย ตั้งสติไม่อยู่ บางคนจึงต้องมีสมาธิอยู่บ้าง จึงจะระลึกอยู่ได้ ถ้าเราเป็นเช่นนี้ ก็ต้องใช้แนวทางที่ 3 เรียกว่า ยุคนันทะสมถวิปัสสนา หมายถึง การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป วิธีปฏิบัติก็คือเจริญสมถกรรมฐาน ซึ่งมีวิธีการเจริญได้หลายอย่าง จะเจริญอานาปานสติ คือ ดูลมหายใจเข้าออก คู่กับวิปัสสนาก็ได้ จะเจริญมรณานุสสติ คือระลึกถึงความตายคู่กับวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเจริญเมตตา คือแผ่เมตตาคู่กับวิปัสสนาก็ได้ เป็นต้น

เมื่อพูดถึงแนวทางที่ 3 คือการเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยเน้นที่การเจริญเมตตาคู่กับการเจริญวิปัสสนา เพราะเห็นว่าจะได้รับประโยชน์ 2 อย่าง คือ

1. ประโยชน์จากการเจริญเมตตา ซึ่งมีอานิสงส์มาก
2. ประโยชน์จากการเจริญวิปัสสนา ซึ่งยิ่งประเสริฐในการที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป

สำหรับประโยชน์ของการเจริญเมตตานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่เจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ จนจิตมีเมตตาได้จริงๆ จะประสบผลเป็นอานิสงส์ 11 ประการ คือ

1. หลับเป็นสุข หลับอย่างสบาย หลับสนิทดี ไม่ใช่หลับๆ ตื่นๆ อะไรอย่างนั้น

2. ตื่นเป็นสุข ตื่นมาก็เป็นสุข จิตใจแจ่มใส เบิกบาน บางทีไม่ต้องใช้เวลาหลับนานก็พอ เพราะว่าได้หลับสนิทนอนเต็มอิ่มเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

3. ไม่ฝันร้าย ถ้าจะฝันก็ฝันดี บางคนนอกจากนอนหลับไม่สนิทแล้ว ยังฝันมั่วไปหมด ฝันแล้วก็จำไม่ได้ เวลาฝันสมองส่วนหนึ่งไม่ได้พัก เพราะจิตส่วนหนึ่งต้องขึ้นมาคิดในวิถีจิต เมื่อหลับไม่สนิท ร่างกายก็เลยไม่สบาย เพราะพักไม่สนิท แต่ถ้าเราเจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ แม้เพียงก่อนนอนเจริญเมตตาให้ดี ให้จิตใจเกลี้ยงเกลา มีความเมตตาจริงๆ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย

4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเรามีเมตตา ใครเห็นเราก็จะมีความรัก มีความเมตตาต่อเรา อยากจะช่วย อยากเอื้อเฟื้อ อยากคุย อยากเห็นเรา ไม่ใช่ว่าเห็นหน้าเราแล้วก็อยากจะหนี ไม่อยากมอง ไม่อยากพูด ไม่อยากเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ นั่นแสดงว่าเป็นคนไม่มีเมตตา เพราะฉะนั้น ให้เจริญเมตตาไว้ แล้วจะเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย อมนุษย์ก็คือไม่ใช่มนุษย์ เช่นพวกเทวดาก็ดี ภูติผีปีศาจอะไรก็แล้วแต่เหล่านี้ก็ดี ซึ่งบางทีก็เล่นงานเบียดเบียนมนุษย์ได้ อย่างเราไปนอนในสถานที่บางแห่งเขาก็มาเบียดเบียนเรา แต่ถ้าเราเจริญเมตตา แผ่เมตตาให้เขา เขาก็จะกลับจิตกลับใจมีเมตตาต่อเรา บางทีเขาก็จะสงเคราะห์อนุเคราะห์เราเหมือนกับแม่อนุเคราะห์บุตร

6. เทวดารักษา เทวดารักษาน่ะดีกว่ามนุษย์รักษา เช่นมีบางสิ่งบางอย่างมาอย่างลี้ลับ เราก็ต้องอาศัยเทวดาคุ้มครองรักษา ปัดเป่าให้เราปลอดภัย เดินทางปลอดภัย ทำอะไรก็ปลอดภัย หรือเมื่อมีพวกคิดร้ายคิดไม่ดีเข้ามา เทวดาก็ช่วยปัดเป่าให้ได้เหมือนกัน

7. ศาสตราอาวุธ ไฟ ยาพิษ เป็นต้น ทำอันตรายไม่ได้

8. หน้าตาผ่องใส คนมีเมตตาผิวหน้าก็ผ่องใส แววตาก็แจ่มใส ไม่เครียด ทำให้มีคนอยากพบ อยากเห็น อยากคุย อยากช่วยเหลือ เพราะว่าหน้าตาน่าดูไม่บึ้งตึง

9. สมาธิตั้งมั่นได้เร็ว ผู้ที่เจริญเมตตาจะมีจิตที่มีความสุข อันจะยังผลให้เกิดสมาธิได้ เพราะความสุขเป็นเหตุของสมาธิ

10. ไม่หลงตาย คือในขณะที่จะตายจิตไม่เศร้าหมอง อันจะเป็นประโยชน์ในภพชาติต่อไป เพราะว่าถ้าไม่หลงตายก็ไปเกิดในสุคติภูมิ ถ้าคนหลงตายก็ไปเกิดในทุคติภูมิ ถ้าคนหลงตายคือจิตเศร้าหมองก็ลงไปสู่อบายภูมิ ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรฉานได้

11. ตายแล้วไปสู่พรหมโลก ไปเกิดเป็นพรหม แต่ผู้นั้นต้องได้ฌานด้วยนะ เพราะการเจริญเมตตาสามารถทำให้ได้ถึงมโนจิต หรือแม้ว่าเราไม่ได้มโนจิต แต่ถ้าจิตของการเจริญเมตตาส่งผลในขณะใกล้จะตาย ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ หรือเทวดาได้

เมื่ออานิสงส์ของการเจริญเมตตามีมากมายถึง 11 ประการดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ เราจึงควรจะเจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ ต่อไปก็จะอธิบายถึงวิธีการแผ่เมตตา

วิธีการแผ่เมตตาสามารถทำได้โดยอันดับแรก แผ่ให้แก่ตนเองก่อนโดยจะกล่าวในใจก็ได้ว่า

“อะหัง สุขิโต โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข

อะหัง นิททุกโข โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากทุกข์

อะหัง อะเวโร โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากเวร

อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความลำบาก

อะหัง อะนีโฆ โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากอุปสรรค

สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
รักษาตนให้มีความสุขตลอดกาลนาน (เทอญ)”

แผ่ให้แก่ตนเองก่อนเพื่อเอาตนเองเป็นพยานว่า เอ้อ ! เรานี่ก็มีความรักตนเอง คนอื่นๆ เขาก็ต้องรักตัวเอง รักตัวของเขาเหมือนกัน เวลานึกถึงสัตว์อื่น เราจะได้เห็นอกเห็นใจมีเมตตาต่อเขาได้ง่าย

ต่อจากนั้นจึงแผ่ให้แก่คนอื่น การแผ่ให้คนอื่นนั้น ถ้าแผ่เดี่ยวๆ แผ่เป็นคนๆ ก็มีวิธีว่า อย่าเพิ่งแผ่ให้กับคนที่ไม่ถูกกัน ที่เป็นศัตรูกัน หรือคนที่เรารักมากก่อน เพราะว่าแผ่ให้กับคนที่ไม่ถูกกันหรือเป็นศัตรูกันนั้น แผ่ไปทีไรเดี๋ยวก็แผ่ไปแต่ความโกรธ จึงไม่ได้แผ่เมตตา นึกถึงทีไรโกรธทุกที ส่วนคนที่เรารักมาก เวลาแผ่ไปจะเป็นเมตตาเทียม กลายเป็นแผ่ตัณหาเสียมากกว่าแผ่เมตตา แล้วความเสียใจก็ตามมาอีก

ท่านจึงสอนว่า ถ้าเมตตาเดี่ยวๆ ให้แผ่แก่คนที่เป็นที่รักพอประมาณหรือคนรักนับถือพอกลางๆ ก่อน แล้วค่อยแผ่ให้คนที่เรารักมาก หรือจนสุดท้ายจึงแผ่ให้ศัตรู แผ่กลับไปกลับมาอย่างนี้ แต่ถ้าแผ่ไปให้ศัตรูแล้วใจมันไม่ไป ก็กลับมาแผ่ให้แก่คนที่เราแผ่ได้ก่อน แล้วค่อยกลับไปแผ่ให้ศัตรูใหม่ ส่วนการแผ่รวมๆ สามารถแผ่รวมไปหมดแก่ใครๆ ก็ตามได้เลย โดยกล่าวว่า

“สัพเพ สัตตา
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อะเวรา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อะนีฆา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

Image

แผ่อย่างนี้ นึกซ้ำๆ บ่อยๆ เข้าเพื่อจะดึงจิตเราให้คล้อยตาม คือให้จิตมีเมตตาจริงๆ แต่ถ้าหากว่าภาษาบาลีเราไม่ถนัด นั่งนึกแต่บาลีจำไม่ได้ก็เลยเครียด แผ่แล้วอย่าให้สมองเครียดเพราะเป้าหมายจริงๆ ของการแผ่เมตตา คือให้เข้าถึงความโปร่งเบาทางจิต เมื่อจิตมีความสุขก็มีสมาธิ เพราะความสุขเป็นเหตุของสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับสมอง ปรับใจของเราให้สบายๆ ถ้าแผ่เป็นภาษาบาลีไม่ได้ ก็แผ่เป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า

“ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

แผ่เป็นภาษาไทยอย่างนี้ วนๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ให้จิตคล้อยตาม หรือถ้ายังยาวไปมันหลายบท จำยาก จำไม่ได้ ก็ใช้บทเดียวก็ได้ว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” ว่าอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” แล้วก็พยายามน้อมให้จิตคล้อยตาม คือเราอาจจะไม่ต้องไปนึกเห็นหน้าตาของคนที่เราแผ่เมตตาให้ชัดเจน แต่ให้นึกแบบรวมๆ

เหมือนเราแผ่เมตตาให้เป็นวงกว้างออกจากตัวออกจากใจของเรา แผ่ขยายออกไป แผ่ออกไปกว้างๆ เหมือนแสงที่กระจายออกไปจากรอบตัวเรา กว้างออกไป...กว้างออกไป...นึกแผ่ออกไปให้รวมๆ ไปทั้งหมดทุกชีวิต ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดา ทั้งสัตว์ในอบายภูมิ ซึ่งเรารวมเรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย นอกจากนี้ก็ต้องแผ่อยู่บ่อยๆ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็แผ่ว่า สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด

เดินทางไปไหนมาไหน นั่งอยู่ในรถเราก็แผ่ไปในรถ แผ่ไปนึกไปทั่วไปหมด ขอให้มีความสุข มีความสุขทั้งมนุษย์ ทั้งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม อยู่ที่ทำงานก็แผ่ให้คนที่ทำงานทุกคนว่า ขอให้มีความสุขๆ อยู่ตรงไหนก็นึกแผ่อยู่เรื่อยๆ แผ่ให้จิตมีความสุข

ถ้าจิตมีเมตตาจริงๆ ก็จะเกิดความสุขความอิ่มเอิบขึ้นในใจ แล้วก็จะแผ่ขยายฉายออกไปทางใบหน้าและแววตา หน้าตาและแววตาก็จะแจ่มใสมีความสุขขึ้น ผิวหน้าจะสดใส มันจะฉายออกมา เมตตาเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อจิตมีเมตตา กุศลก็เกิดขึ้น บุญเกิดขึ้นก็จะคุ้มครองรักษาตัวเราให้มีความสุข ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการเจริญเมตตา ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน

ต่อไปจะอธิบายวิธีการเจริญสมถะ โดยเฉพาะการเจริญเมตตาควบคู่กับการเจริญวิปัสสนาว่าจะทำได้อย่างไร

การเจริญวิปัสสนามีหลักอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ ในที่นี้เมื่อเราเจริญเมตตา ก็ให้ระลึกรู้เข้ามาที่หน้าตาและที่ใจ ในขณะที่เราแผ่เมตตาออกไป แผ่ไป...แผ่ไป...ก็ให้มีสติระลึกสังเกตดูสภาพของใจ สังเกตว่าใจรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุขมั้ย ส่วนความรู้สึกของแก้ม ของหน้า ของตา เราสามารถสังเกตความรู้สึกด้วยตัวเองได้ว่าหน้าตาเราบึ้งหรือหน้าตาเราแจ่ม ใสคลี่คลาย ปากเราเป็นอย่างไร ยิ้มมั้ย

ถ้าเรารู้สึกได้ว่าใจอิ่มเอิบ มีความสุข ปากยิ้มได้ แสดงว่าจิตมีเมตตาจริงและก็เป็นวิปัสสนาด้วย เพราะสติได้มาระลึกรู้ที่ใจหรือที่จิตซึ่งเป็นสภาวะ ส่วนความรู้สึกที่หน้าตาและที่ปากนั้นเป็นจิตตชรูป เพราะปากจะยิ้มได้ต้องมาจากจิต ถ้าจิตอิ่ม จิตมีความสุข ปากจะยิ้ม ปากที่ยิ้มเกิดจากจิตเรียกว่าจิตตชรูป คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มได้

และผู้มีเมตตานั้นนอกจากจิตจะรู้สึกแจ่มใสแล้ว ดวงตายังแจ่มใสเหมือนยิ้มได้นะ คนที่มีนิสัยมีจิตใจเมตตา เวลาพูดไปก็เหมือนกับเขายิ้มไปในตัว ตายิ้ม ปากยิ้ม ใจยิ้ม มันมาจากใจ เพราะฉะนั้น ถ้าใจขุ่น ตาก็ขุ่น ปากก็ไม่ยิ้ม หน้าก็เครียด ดวงตาเป็นหน้าต่างของใจ ถ้าดูที่ตาก็จะรู้ไปถึงใจ ถ้าใจดีใจอิ่มเอิบ แววตาก็ดี ปากก็ยิ้ม จึงให้สังเกตความรู้สึกที่อิ่มเอิบ สังเกตใจที่มีปิติ มีความสุข สังเกตความผ่องใสในใจ ใจที่มีเมตตาจะผ่องใส เพราะกิเลสในใจขณะนั้นได้ถูกชำระออกไป ใจจึงอิ่มเอิบ หน้าตาแจ่มใส เมื่อมีสติมาระลึกถึงสภาพธรรมเหล่านี้ก็เป็นวิปัสสนา

แต่ถ้าเราเจริญเมตตาเสียจังหวะ บางทีก็ทำให้เคร่งตึงได้ ถ้าเราแผ่เมตตาแล้วรู้สึกว่าสมองเครียด แผ่แล้วรู้สึกเคร่งตึง ก็ต้องลดการแผ่เมตตาลง แล้วให้มาเจริญวิปัสสนาด้วยความปล่อยวางมากขึ้น คือ เปลี่ยนจากการเจริญเมตตาที่นึกให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุข เปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ปล่อยวาง” แทน ดังนั้น เมื่อเราจับความรู้สึกในสมอง ในสรีระได้ว่า มันตึงๆ สติระลึกรู้ความรู้สึกที่เคร่งตึงนั้น ก็สอนใจตนเองว่า ปล่อยวางนะ...ปล่อยวาง...ปล่อยวาง...ซึ่งเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาที่รวบยอด คือจะระลึกรู้อย่างปล่อยวาง พอรู้อย่างปล่อยวาง ความรู้สึกตึงๆ ในสมองจะคลาย สรีระจะคลาย

นอกจากนี้ การเจริญเมตตายังช่วยทำให้จิตตื่น และช่วยให้มีสติได้ด้วย สมมติว่าเราเป็นคนที่ระลึกไม่ค่อยจะได้ เป็นคนไม่ค่อยมีสติ ชอบเผลอ ตามหลักแล้ว การเจริญสติสามารถระลึกรู้ได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ แต่เราไม่ยอมมีสติ จะทำอย่างไร บังคับก็ไม่ได้ ก็ให้ลองเจริญเมตาควบคู่กับวิปัสสนา จะพบว่า เจริญเมตตาก็มีสติได้ พอเจริญเมตตาทีไร ก็จะกลับมามีสติระลึกได้ทุกที เลยกลายเป็นว่า เราอาศัยการเจริญเมตตาแล้วทำให้มีวิปัสสนาตามมา

อีกประการหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ คือทำให้จิตไม่เบลอ คนที่จิตเลื่อนลอย คือจิตไม่ทำงาน นั่งแล้วเบลอ ง่วงๆ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเจริญเมตตา จิตก็จะทำงานขึ้นมา เพียงแค่นึกว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขนะ...ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขนะ...จิตจะ ทำงาน จิตจะตื่น มีสติมาดูจิตได้อีก อย่างนี้เรียกว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป

สมถะ คือการเจริญเมตตา ทำให้จิตสงบ
วิปัสสนา คือระลึกรู้สภาวะที่กำลังปรากฏด้วยความปล่อยวาง


ฉะนั้น การเจริญเมตตากับการเจริญวิปัสสนาควบคู่กันไป เจริญเมตตาเป็นสมถกรรมฐาน ระลึกรู้สภาวะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่า ยุคนันทะสมถะวิปัสสนา และก็แถมให้อีกว่า ที่ว่าเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันนี้ สามารถไปคู่กับสมถะบทอื่นได้หลายๆ อย่าง เช่น คู่กับอาณาปานสติ คือ การกำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก แล้วก็เจริญวิปัสสนาควบคู่กัน การเจริญอาณาปานสตินี้เป็นสมถะกรรมฐาน เพราะเป็นการระลึกอารมณ์บัญญัติ

การเจริญอาณาปานสติทำอย่างไร ตามแนวมหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า มีสติรู้ลมหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจเข้า สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจออก สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขารหายใจออก นี้เป็นวิธีการเจริญอาณาปานสติ ซึ่งทำให้เกิดสมาธิ

แผ่อย่างนี้ นึกซ้ำๆ บ่อยๆ เข้าเพื่อจะดึงจิตเราให้คล้อยตาม คือให้จิตมีเมตตาจริงๆ แต่ถ้าหากว่าภาษาบาลีเราไม่ถนัด นั่งนึกแต่บาลีจำไม่ได้ก็เลยเครียด แผ่แล้วอย่าให้สมองเครียดเพราะเป้าหมายจริงๆ ของการแผ่เมตตา คือให้เข้าถึงความโปร่งเบาทางจิต เมื่อจิตมีความสุขก็มีสมาธิ เพราะความสุขเป็นเหตุของสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับสมอง ปรับใจของเราให้สบายๆ ถ้าแผ่เป็นภาษาบาลีไม่ได้ ก็แผ่เป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า

“ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

แผ่เป็นภาษาไทยอย่างนี้ วนๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ให้จิตคล้อยตาม หรือถ้ายังยาวไปมันหลายบท จำยาก จำไม่ได้ ก็ใช้บทเดียวก็ได้ว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” ว่าอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” แล้วก็พยายามน้อมให้จิตคล้อยตาม คือเราอาจจะไม่ต้องไปนึกเห็นหน้าตาของคนที่เราแผ่เมตตาให้ชัดเจน แต่ให้นึกแบบรวมๆ

เหมือนเราแผ่เมตตาให้เป็นวงกว้างออกจากตัวออกจากใจของเรา แผ่ขยายออกไป แผ่ออกไปกว้างๆ เหมือนแสงที่กระจายออกไปจากรอบตัวเรา กว้างออกไป...กว้างออกไป...นึกแผ่ออกไปให้รวมๆ ไปทั้งหมดทุกชีวิต ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดา ทั้งสัตว์ในอบายภูมิ ซึ่งเรารวมเรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย นอกจากนี้ก็ต้องแผ่อยู่บ่อยๆ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็แผ่ว่า สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด

เดินทางไปไหนมาไหน นั่งอยู่ในรถเราก็แผ่ไปในรถ แผ่ไปนึกไปทั่วไปหมด ขอให้มีความสุข มีความสุขทั้งมนุษย์ ทั้งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม อยู่ที่ทำงานก็แผ่ให้คนที่ทำงานทุกคนว่า ขอให้มีความสุขๆ อยู่ตรงไหนก็นึกแผ่อยู่เรื่อยๆ แผ่ให้จิตมีความสุข

ถ้าจิตมีเมตตาจริงๆ ก็จะเกิดความสุขความอิ่มเอิบขึ้นในใจ แล้วก็จะแผ่ขยายฉายออกไปทางใบหน้าและแววตา หน้าตาและแววตาก็จะแจ่มใสมีความสุขขึ้น ผิวหน้าจะสดใส มันจะฉายออกมา เมตตาเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อจิตมีเมตตา กุศลก็เกิดขึ้น บุญเกิดขึ้นก็จะคุ้มครองรักษาตัวเราให้มีความสุข ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการเจริญเมตตา ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน

ต่อไปจะอธิบายวิธีการเจริญสมถะ โดยเฉพาะการเจริญเมตตาควบคู่กับการเจริญวิปัสสนาว่าจะทำได้อย่างไร

การเจริญวิปัสสนามีหลักอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ ในที่นี้เมื่อเราเจริญเมตตา ก็ให้ระลึกรู้เข้ามาที่หน้าตาและที่ใจ ในขณะที่เราแผ่เมตตาออกไป แผ่ไป...แผ่ไป...ก็ให้มีสติระลึกสังเกตดูสภาพของใจ สังเกตว่าใจรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุขมั้ย ส่วนความรู้สึกของแก้ม ของหน้า ของตา เราสามารถสังเกตความรู้สึกด้วยตัวเองได้ว่าหน้าตาเราบึ้งหรือหน้าตาเราแจ่ม ใสคลี่คลาย ปากเราเป็นอย่างไร ยิ้มมั้ย

ถ้าเรารู้สึกได้ว่าใจอิ่มเอิบ มีความสุข ปากยิ้มได้ แสดงว่าจิตมีเมตตาจริงและก็เป็นวิปัสสนาด้วย เพราะสติได้มาระลึกรู้ที่ใจหรือที่จิตซึ่งเป็นสภาวะ ส่วนความรู้สึกที่หน้าตาและที่ปากนั้นเป็นจิตตชรูป เพราะปากจะยิ้มได้ต้องมาจากจิต ถ้าจิตอิ่ม จิตมีความสุข ปากจะยิ้ม ปากที่ยิ้มเกิดจากจิตเรียกว่าจิตตชรูป คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มได้

และผู้มีเมตตานั้นนอกจากจิตจะรู้สึกแจ่มใสแล้ว ดวงตายังแจ่มใสเหมือนยิ้มได้นะ คนที่มีนิสัยมีจิตใจเมตตา เวลาพูดไปก็เหมือนกับเขายิ้มไปในตัว ตายิ้ม ปากยิ้ม ใจยิ้ม มันมาจากใจ เพราะฉะนั้น ถ้าใจขุ่น ตาก็ขุ่น ปากก็ไม่ยิ้ม หน้าก็เครียด ดวงตาเป็นหน้าต่างของใจ ถ้าดูที่ตาก็จะรู้ไปถึงใจ ถ้าใจดีใจอิ่มเอิบ แววตาก็ดี ปากก็ยิ้ม จึงให้สังเกตความรู้สึกที่อิ่มเอิบ สังเกตใจที่มีปิติ มีความสุข สังเกตความผ่องใสในใจ ใจที่มีเมตตาจะผ่องใส เพราะกิเลสในใจขณะนั้นได้ถูกชำระออกไป ใจจึงอิ่มเอิบ หน้าตาแจ่มใส เมื่อมีสติมาระลึกถึงสภาพธรรมเหล่านี้ก็เป็นวิปัสสนา

แต่ถ้าเราเจริญเมตตาเสียจังหวะ บางทีก็ทำให้เคร่งตึงได้ ถ้าเราแผ่เมตตาแล้วรู้สึกว่าสมองเครียด แผ่แล้วรู้สึกเคร่งตึง ก็ต้องลดการแผ่เมตตาลง แล้วให้มาเจริญวิปัสสนาด้วยความปล่อยวางมากขึ้น คือ เปลี่ยนจากการเจริญเมตตาที่นึกให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุข เปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ปล่อยวาง” แทน ดังนั้น เมื่อเราจับความรู้สึกในสมอง ในสรีระได้ว่า มันตึงๆ สติระลึกรู้ความรู้สึกที่เคร่งตึงนั้น ก็สอนใจตนเองว่า ปล่อยวางนะ...ปล่อยวาง...ปล่อยวาง...ซึ่งเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาที่รวบยอด คือจะระลึกรู้อย่างปล่อยวาง พอรู้อย่างปล่อยวาง ความรู้สึกตึงๆ ในสมองจะคลาย สรีระจะคลาย

นอกจากนี้ การเจริญเมตตายังช่วยทำให้จิตตื่น และช่วยให้มีสติได้ด้วย สมมติว่าเราเป็นคนที่ระลึกไม่ค่อยจะได้ เป็นคนไม่ค่อยมีสติ ชอบเผลอ ตามหลักแล้ว การเจริญสติสามารถระลึกรู้ได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ แต่เราไม่ยอมมีสติ จะทำอย่างไร บังคับก็ไม่ได้ ก็ให้ลองเจริญเมตาควบคู่กับวิปัสสนา จะพบว่า เจริญเมตตาก็มีสติได้ พอเจริญเมตตาทีไร ก็จะกลับมามีสติระลึกได้ทุกที เลยกลายเป็นว่า เราอาศัยการเจริญเมตตาแล้วทำให้มีวิปัสสนาตามมา

อีกประการหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ คือทำให้จิตไม่เบลอ คนที่จิตเลื่อนลอย คือจิตไม่ทำงาน นั่งแล้วเบลอ ง่วงๆ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเจริญเมตตา จิตก็จะทำงานขึ้นมา เพียงแค่นึกว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขนะ...ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขนะ...จิตจะ ทำงาน จิตจะตื่น มีสติมาดูจิตได้อีก อย่างนี้เรียกว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป

สมถะ คือการเจริญเมตตา ทำให้จิตสงบ
วิปัสสนา คือระลึกรู้สภาวะที่กำลังปรากฏด้วยความปล่อยวาง


ฉะนั้น การเจริญเมตตากับการเจริญวิปัสสนาควบคู่กันไป เจริญเมตตาเป็นสมถกรรมฐาน ระลึกรู้สภาวะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่า ยุคนันทะสมถะวิปัสสนา และก็แถมให้อีกว่า ที่ว่าเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันนี้ สามารถไปคู่กับสมถะบทอื่นได้หลายๆ อย่าง เช่น คู่กับอาณาปานสติ คือ การกำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก แล้วก็เจริญวิปัสสนาควบคู่กัน การเจริญอาณาปานสตินี้เป็นสมถะกรรมฐาน เพราะเป็นการระลึกอารมณ์บัญญัติ

การเจริญอาณาปานสติทำอย่างไร ตามแนวมหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า มีสติรู้ลมหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจเข้า สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจออก สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขารหายใจออก นี้เป็นวิธีการเจริญอาณาปานสติ ซึ่งทำให้เกิดสมาธิ

Image


Image

โดย พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แขวงกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
Image

สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรากำหนดใจว่า จะทำให้สำเร็จ ใจเราปักหลักอยู่กับเรื่องนั้นเท่านั้น สมาธิมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เอกัคคตา แปลว่า คิดเรื่องเดียว เลือกเรื่องที่ท่านจะทำ ลองกำหนดตารางเวลา ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพนั้นจะกำหนดเวลา เป็นช่วงๆ อันไหนเรื่องด่านเรื่องสำคัญแล้วก็ทุ่มเททำเรื่องนั้นจนหมดเวลา หรือเสร็จเรื่องแล้วจึงค่อยเปลี่ยนหรือสวิชต์ไปเรื่องอื่น เขาคิดทีละเรื่อง ไม่ใช่ให้เรื่องต่างๆ เข้ามาพันกันจนยุ่งไปหมด

การมีสมาธิหมายความว่าเรากำลังคิดเรื่องอะไรก็มีสติในเรื่องนั้น ใจอยู่กับเรื่องนั้นเพียงเรื่องเดียว อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านสอนให้ทำ สมาธิด้วยกายคตาสติ คือ กำหนดดูมือที่ขึ้นและลง ขึ้นก็รู้ ลงก็รู้ มีสติกับ การเคลื่อนไหวของมือในปัจจุบันตลอดเวลา ไม่วอกแวกไปไหนเลย สติที่ติดตามการเคลื่อนไหวของมืออย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสมาธิ มือในปัจจุบันขณะอยู่ตรงไหน สติรู้ทันหมด หรือในการฝึกสติตามการเดินว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ สำหรับคนเริ่มฝึกขั้นแรก เขายกเท้าซ้ายแล้วก็วาง ยกเท้าขวาแล้วก็วางให้มีสติตามทันการเคลื่อนไหว คนที่ฝึกขั้นสูงสติรู้ปัจจุบันละเอียดขึ้นอีก ยก-ย่าง-เหยียบ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อฝึกสติมากขึ้น สติจะตามทันทุกอย่าง ทันแม้กระทั่งความคิดของตัวเอง เวลาที่จิตโกรธ เราจะรู้ทันและใส่เบรกให้กับตัวเองได้ จุดประสงค์ที่แท้จริงต้องมาถึงขั้นที่ว่า ถ้าเกิดโกรธหรือกลัวขึ้นมาก็สามารถที่จะห้ามความโกรธหรือปลุกปลอบใจได้ ถ้าหากว่าเราเริ่มจะขุ่นมัว สติจะเป็นเครื่องตรวจสอบตนเอง รู้ทันแม้กระทั่งความคิดของตนเองได้ เพราะฉะนั้นคนที่มักโกรธควรเจริญสติจะได้ใจเย็นลง สติเป็นตัวกระบวน การฝึกอยู่กับปัจจุบัน เช่น กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมถูกปลายจมูกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ อย่างนี้เป็นต้น ไม่วอกแวกไปที่อื่น สติอยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเรียกว่า อานาปานสติ คือ สติกำหนดลม หายใจเข้าและออก เมื่อทำสติเช่นนี้ต่อเนื่องจะเกิดสมาธิคือปักใจอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว

สมาธิมี 3 ขั้นด้วยกัน คือ

1. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ
2. อุปจารสมาธิ สมาธิเกือบจะแน่วแน่
3. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่


ขั้นที่ 1 เรียกว่า ขณิกสมาธิ
เป็นสมาธิขั้นต้นสำหรับชาวบ้าน สมาธิชั่วขณะที่ทำสิ่งนั้นๆ เช่น อยู่กับขณะของลมหายใจเข้า-ออก แน่วแน่อยู่กับเรื่องนั้น สมาธิที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันเราอ่านหนังสือหนึ่งเล่มจนจบได้ต้องมีขณิก สมาธิ ในการที่ท่านฟังบรรยายนี้เข้าใจจะต้องมีขณิกสมาธิทุกคน ถ้าไม่มีสมาธิขั้นนี้เรียนอะไรไม่ได้

ใครมีขณิกสมาธิมากก็จะมีกระแสจิตที่แรงกล้า เพราะสมาธิคือการรวมพลังให้กับกระแสจิต อย่างที่ท่านมองใครสักคนหนึ่งท่านมองอย่างตั้งใจก็คือระดมความคิดไปที่เขา การระดมกระแสจิตไปนั้นก็คือ สมาธินั่นเอง ในขณะนั้นท่านมองอย่างโกรธ มองอย่างรักหรือมองอย่างเมตตา กระแสสมาธิจึงมีอยู่หลากหลาย อย่างเช่น ท่านแผ่เมตตาก็คือทำสมาธินั่นเอง นึกถึงใครด้วยเมตตากรุณาคือความรักความสงสาร ก็เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง

พระพุทธเจ้าเองนิยมใช้การกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ที่เรียกว่า อานาปานสติ หลวงพ่อเทียนใช้กายคตาสติรู้ทันการเคลื่อนไหวของมือ คิดอยู่เรื่องเดียว มองจะต้องให้เห็น คือรู้ทันปัจจุบัน

ปรากฏว่า บางคนทำแล้ววอกแวก เพราะแทนที่จะไปดูมือ ไปดูเส้นลายมือ คิดว่าเส้นลายมือเรามันขาด เส้นโชคเมื่อไรจะขึ้นสักทีหนอ มือซีดเหลือเกิน จิตวิ่งไปเรื่องไหนต่อเรื่องไหน พอให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นหวัดเสียแล้ว คิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ฟุ้งซ่านไปหมด

สมาธิขั้นสูงขึ้นไปเกือบจะเป็นฌาน เรียกว่า อุปจารสมาธิ แปลว่าใกล้ จะแน่วแน่ ขั้นนี้สามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งห้าคือ กามฉันทะ (ความพอใจใน กาม) พยาบาท (ความขัดเคือง) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) อุปจารสมาธิยังไม่เรียกว่าฌาน เพราะยังไม่มีองค์ฌานทั้งห้า

สมาธิขั้นสูงสุดเรียกว่า อัปปนาสมาธิ หมายถึงสมาธิแน่วแน่ เป็นสมาธิของผู้เข้าฌาน มีองค์ฌานทั้งห้า คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พระพุทธเจ้าเวลาเข้าฌานสมาบัติ ฟ้าผ่าลงมาใกล้ๆ ก็ไม่ได้ยิน จิตแน่วแน่มาก อันนี้เราทำในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะเสียงจะเป็นข้าศึกเป็นปฏิปักษ์ต่อสมาธิ ผู้ต้องการบรรลุสมาธิขั้นนี้อาจต้องเข้าป่า แต่สำหรับคนที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ไม่จำเป็นต้องได้อัปปนาสมาธิก่อน ท่านทำขณิกสมาธิแล้วเข้าวิปัสสนาไปเลย

ความต่างของสมาธิและวิปัสสนาอยู่ตรงที่ สมาธิเป็นเรื่องของความแน่วแน่ของจิต วิปัสสนาเป็นเรื่องของปัญญา วิปัสสนาคือเอาจิตไป ดูอนิจจัง ความไม่เที่ยง เกิด-ดับๆ ของจิต หรือความรู้สึกเช่น เมื่อครู่นั่งแล้วมีความสุข ตอนนี้มีความทุกข์ สุขทุกข์ไม่เที่ยงคือเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า วิปัสสนา เป็นเรื่องของปัญญา แต่ถ้าเป็นเรื่องของสมาธิในชีวิตประจำวันหรือเป็นเรื่อง ความสงบนิ่งแห่งจิต เป็นเรื่องจิตคิดน้อยที่สุดจนหยุดคิด ท่านจะมีความสุขสงบมีพลังในการทำงาน เป็นประโยชน์ในชีวิตทั่วไป แล้วทำให้ท่านไม่เครียด

คนเครียดคือคนแบกเรื่องหนักไว้เต็มหัว พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้จะถึงวันงาน กังวลว่านี่ก็ยังไม่ได้ทำ นั่นก็ยังไม่ได้ทำ คิดจะทำเรื่องหนึ่งก็มีเรื่องนี้มาเรื่องนั้นมากวนใจ เช่น ไปอยู่ที่ทำงานรู้สึกเครียดก็หอบงานกลับไปทำที่บ้าน พอกลับบ้านก็หอบงานกลับไปทำที่ทำงาน อยู่ที่ทำงานก็ห่วงบ้านจนต้องโทรศัพท์กลับไปที่บ้าน พอไปอยู่ที่บ้านก็โทรศัพท์กลับไปที่ทำงาน หรือตอนทำงานก็วางแผนพักร้อน ตอนไปพักร้อนก็หอบเอางานไปทำด้วย และพอกลับไปที่ทำงานก็วางแผนพักร้อนต่อไป

อะไรก็ไม่รู้ ทำอะไรไม่จริงสักอย่าง ใจวุ่นวายสับสน คนที่ไม่เครียด ก็คือทำทีละเรื่อง ที่ละอย่าง อันไหนจำเป็นรีบด่วนก็ทำ หรือที่เราเรียกว่าการจัดลำดับความสำคัญนั่นเอง คนที่มีระเบียบใน ชีวิตบางคนทำงานได้หลายเรื่องในวันเดียวกัน ข้อสำคัญต้องมีระเบียบว่า ขั้นนี้เราทำให้เต็มที่ เสร็จแล้วจึงจับงานอื่นขึ้นมาทำ ทำทีละเรื่องๆ เหมือนกับยกเก้าอี้ทีละตัว ถ้าท่านพยายามยกทีละ 10 ตัว ก็ยกไม่ไหว

นโปเลียนมหาราชเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพคนหนึ่ง จิตแพทย์เขียนเล่าไว้ว่า ตอนนโบเลียนมีอำนาจวาสนารบเก่งมาก ตีชนะเกือบทั่วยุโรปจนถึงรัสเซีย รบก็เก่ง และเป็นนักบริหารที่เก่งในยามสงบ บริหารการคลังเยี่ยมเงินเต็มคลัง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารีอังตัวเนตใช้เงินหมดเลย ไม่มีเงินเหลือ แต่นโปเลียนสามารถทำเงินให้เต็มคลัง ไปรบที่ไหนเขียนจดหมายถึงมเหสี เขียนจดหมายสั่งงานได้ มีจดหมาย และบันทึกของนโปเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐาน ในปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ถึง 80,000 ฉบับ บางฉบับแปลมาเป็นภาษาไทย คือเรื่องจดหมายรักนโปเลียน เขาเอาเวลาที่ไหนมาทำเรื่องต่างกันได้ เรื่องเศรษฐกิจกับการรบมันคนละอย่าง

จิตแพทย์สงสัยว่านโปเลียนทำได้อย่างไร ตอนนั้นนโปเลียนถูกจับปล่อยเกาะ จิตแพทย์ก็ยังอุตส่าห์นั่งเรือไปสัมภาษณ์ นโปเบียนก็ขยายความลับบอกว่า เราฝึกคิดทีละเรื่อง ทำเรื่องไหนนึกคิดเรื่องนั้นเท่านั้น คือทำสมาธินั่นเอง มีสติจดจ่ออยู่กับเรื่องนั้น เขาไม่ได้เรียนรู้วิธีทำสมาธิแบบพุทธเขาฝึกด้วยวิธีของตนเอง เขาบอกว่า ฝึกจินตนาการให้หัวสมองเขาเหมือนกับตู้มีลิ้นชักหลายลิ้นชัก แต่ละลิ้นชักเก็บไว้ 1 เรื่อง เท่านั้น เรื่องสงครามเก็บไว้ลิ้นชักนี้ เรื่องจดหมายเก็บไว้ลิ้นชักนั้น เรื่องอื่นเก็บไปลิ้นชักอื่น และจะคิดเรื่องไหนก็เปิดลิ้นชักนั้นออกมาเท่านั้น ปิดลิ้นชักอื่นให้หมด ไม่ให้มันตีกัน และเวลาหยุดคิดก็ปิดลิ้นชักอื่นให้หมดเลย

นโปเลียนกล่าวว่าถ้าไม่เชื่อจะทดลองทำให้ดู เราจะไม่คิดอะไรเลย ว่าแล้วก็หลับตาเอนกายลงนอนไม่ถึง 5 นาที นโปเลียนหลับสนิทเลย จิตแพทย์อัศจรรย์ใจ จับชีพจรดูลมหายใจแล้วเห็นว่าเขาหลับจริง หลอกหมอไม่ได้หรอก นโปเลียนทำได้เพราะฝึกคิดทีละเรื่อง ทำทีละอย่างให้ดี หมดเวลาก็หยุดทำ

มีเรื่องเล่าทำนองเดียวกันว่า นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ขณะที่ต่างชาติยกทหารบุกเข้ามา ปรากฏว่าในรั้วในวังตกใจกันใหญ่เลย วิจารณ์กันว่าจะรบดีไหม ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ประกาศสงครามสักที ยังอึมครึมกันอยู่จนกระทั่งเวลาเลี้ยงอาหารค่ำงานใหญ่มีเจ้าหญิงร่วมเสวย เขาก็คุยกันเรื่องสงครามว่า รัฐบาลจะรบหรือไม่รบ แต่นายกรัฐมนตรีนั่งรับประทานเฉยไม่พูดกับใคร คนก็วิจารณ์กันรอบๆ โต๊ะ ในที่สุดเจ้าหญิงองค์หนึ่งทนไม่ได้ ถามท่านนายกรัฐมนตรีตรงๆ ว่า ท่านยังมัวรออะไรอยู่ละ ท่านนากยกฯ ก็ทูลตอบว่า กำลังรอของหวานรายการต่อไป

นี่เป็นสมาธิฝึกมีระเบียบในชีวิต พวกที่เครียดจนเป็นโรคกระเพาะ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ควรฝึกคิดทีละเรื่องเหมือนนโปเลียน หัดสร้างระเบียบให้กับชีวิตตนเอง

การทำสมาธิก็คือมีสติอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้านั้น และเอาจิตใจตามเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเหมือนกับกระแสน้ำที่อยู่ ในเขื่อน แล้วปล่อยออกมาทางเดียวจะเป็นพลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ถ้ากระแสจิตซัดส่ายไปหลากหลายจะไม่มีพลังพอจะแก้ปัญหา บางครั้งถ้าท่านมีปัญหาอะไรคิดไม่ออก ให้นอนหลับตื่นเช้าขึ้นมา สมองจะปลอดโปร่ง ความคิดของท่านสดใสขึ้น ไอเดียต่างๆ จะเกิดขึ้น นักคิดหลายคนได้ความคิดที่ดีตอนเช้ามืดเมื่อสมองปลอดโปร่ง เพราะได้พักตอนนอนหลับ กระแสจิตมีพลัง


วิธีบำเพ็ญสมาธิเบื้องต้น
โดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

วัดโสมนัสวิหาร
แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

นักเรียนนักศึกษาผู้มีสุขภาพจิตดี ย่อมเรียนหนังสือได้ดี สามารทำงานได้มากและได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถเข้ากับเพื่อนๆ และช่วยเหลือสังคมได้ดี เพราะผู้มีสุขภาพจิตสูง ย่อมมีความสุขและความสำเร็จในชีวิต ได้มากกว่าผู้มีสุขภาพจิตเสื่อมและอ่อนแอ เช่นเดียวกับผู้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมจะมีความสุขและความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าคนที่มีร่างกายอ่อนแอและเป็น โรค อันร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีได้ ก็เพราะเจ้าของออกกำลังกาย รู้จักรักษาสุขภาพ เช่น รู้จักบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ และได้อากาศบริสุทธิ์ ข้อนี้ฉันใด จิตใจของมนุษย์เราจะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ ก็เพราะเจ้าของได้ฝึกฝนอบรมด้วยวิธีอันถูกต้องเหมือนกัน

และเป็นความจริงที่ว่า คนบางคนแม้จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่มีจิตใจอ่อนแอ เช่น ขี้โกรธ ขี้กลัว ตกใจง่าย หรือเป็นโรคประสาท เป็นต้น ก็ไม่อาจจะพบความสุขที่สมบูรณ์ได้ แม้เขาจะมีเงินทองทรัพย์สมบัติมาก และมีเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีวิธีฝึกจิต เพราะจิตที่ฝึกได้ดีแล้ว ย่อมมีคุณภาพสูง ทั้งก่อให้เกิดความสงบสุขแก่เจ้าของ และสังคมโดยส่วนรวมได้

Image

ความสนใจในการฝึกจิตของชาวโลกปัจจุบัน

ในปัจจุบัน วิทยาการสมัยใหม่ได้เจริญก้าวหน้าล้ำความเจริญด้านจิตใจไปเป็นอันมาก ซึ่งต่างจากสมัยก่อน ที่ความเจริญทางด้านจิตใจของคนเราเหนือความเจริญด้านวัตถุ จิตใจของคนในปัจจุบันนี้ จึงเกิดการพิการขึ้น เช่น เกิดโรคจิต โรคประสาท เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ของโลก เกิดสังคมพิการขึ้นทั่วไป และเกิดปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้นในสังคม เช่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัญหาครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น

ฉะนั้น มนุษย์เราจึงหาทางออกโดยการหันมาสนใจความเจริญทางด้านจิตใจ กล่าวคือ การฝึกจิตตามหลักทางศาสนา โดยเฉพาะการฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่า การทำสมาธิ หรือการทำกรรมฐานนั้น มีผู้หันมาสนใจกันมากเป็นพิเศษทั่วโลก ชาวต่างประเทศที่หันมาสนใจพระพุทธศาสนานั้น เขาจะสนใจการฝึกกรรมฐาน เป็นพิเศษ ถึงกับมีสำนักฝึกกรรมฐานขึ้นทั่วทุกแห่งที่มีพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง แม้ในประเทศไทยเราเอง ปัจจุบันนี้ก็มีคนสนใจด้านกรรมฐานกันมากกว่าแต่ก่อน และมีทุกเพศทุกวัย

ส่วนประเทศทางตะวันตกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีประชาชนหนุ่มสาว นักศึกษาหันมาฝึกสมาธิกันมากเป็นพิเศษ และสมาธิที่เขาฝึกกันมาก ก็คือ TRANSCENDENTAL MEDITATION หรือที่เรียกโดยย่อว่า T.M. ซึ่งมหาฦาษีมเหศจากอินเดีย ได้นำเข้าไปเผยแผ่ไว้ในสหรัฐ เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน ขณะนี้มีศูนย์ฝึก T.M. อยู่ทั่วโลกประมาณ 360 แห่ง แม้ประเทศไทยเราก็มีศูนย์ T.M. เช่นกัน เพราะมีนักศึกษาไทยที่เข้าไปเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกานำเข้าเผยแผ่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาได้รับผลดีจากการฝึก T.M. มาแล้ว

สมาธิแบบ T.M. นี้ ก็คล้ายกับสมาธิในพระพุทธศาสนามาก แต่ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว ถ้าเทียบกันแล้วก็เป็นสมาธิขั้นต้นในพระพุทธศาสนา ถ้าเราได้ฝึกกันอย่างจริงจังและใช้เวลาฝึกกันติดต่อกันเป็นปีๆ เช่นนี้ ก็ย่อมได้รับผลเช่นกัน และมีผลเหนือกว่าด้วย เพราะเป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงทดสอบได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้ว

Image

ประโยชน์ของการฝึกจิต

การฝึกจิตนั้น มีคุณค่าต่อชีวิตมาก เพราะทำตนให้เป็นผู้ประเสริฐ ดังนั้น ผู้ที่ฝึกจิตได้ถูกต้อง
แม้เพียงขั้นสมาธิก็ย่อมได้รับประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

1. ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น ได้คะแนนสูง เพราะมีจิตใจสงบ จึงทำให้แม่นยำและดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

2. ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยผิดพลาด เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น

3. สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างหายไปได้

5. ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน และมีอายุยืน

6. ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เช่นถ้าอยู่ในโรงเรียนก็ทำให้เพื่อนๆ และครูพลอยได้รับความสุข ถ้าหากอยู่ในบ้านก็ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ถ้าอยู่ในที่ทำงานก็ทำให้เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาพลอยได้รับความสุขไปด้วย

7. สามารถเผชิญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างใจเย็น รวมทั้ง สามารถแก้ไขความยุ่งยาก และความเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตได้ด้วยวิธีอันถูกต้อง

8. สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตลงได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เบาบางลงได้

9. ถ้าทำได้ถึงขั้นสูงก็ย่อมได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และอาจสามารถได้อำนาจจิตที่พิเศษ เช่น รู้ใจคนอื่น เป็นต้น

10. ทำให้เป็นพื้นฐานโดยตรงในการเจริญวิปัสสนา

Image

ความสุข 2 อย่าง

ทุกคนที่เกิดมาล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้นมี 2 อย่าง คือ

1. ความสุขทางกาย
2. ความสุขทางใจ

ความสุขทั้ง 2 อย่างนี้ต้องอาศัยกันและกัน คือ ถ้ากายเป็นสุขแล้วก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วยหรือถ้าใจเป็นสุขแล้วก็จะทำให้กาย มีความสุขด้วย เช่นเดียวกับเรื่องความทุกข์เ พราะกายกับจิตมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้ง 2 อย่างนี้ แต่ก็ยกย่องจิตว่าประเสริฐกว่ากาย เพราะกายนั้น (รวมทั้งสมอง) เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิตเป็นผู้นำ และยกย่องความสุขทางใจว่าดีกว่าความสุขทุกชนิด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี (นตฺ สนฺติปรํ สุขํ)"

และความสุขที่แท้จริงนั้นเราไม่อาจจะหาได้จากทรัพย์สมบัติ จากอำนาจ จากกามสุข หรือแม้จากเกียรติยศชื่อเสียง ดังเราจะเห็นได้ว่า มีคนที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง และมีตำแหน่งฐานะดีเป็นจำนวนมาก ที่ไม่อาจมีความสุขได้จากสิ่งที่ตนมี เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่บ่อเกิดแห่งความสุขที่แท้จริง ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์จากสิ่งที่ตนมีเสียอีก แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นหาได้จากจิตใจอันอยู่ในตัวเรานี้เอง และคนที่จะได้รับความสุขชนิดนี้นั้น ก็จะต้องฝึกจิตของตนตามหลักพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและพิสูจน์มาแล้ว

Image

กรรมฐาน

การฝึกจิตในพระพุทธศาสนาเรียกว่า จิตภาวนา-การอบรมจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรรมฐาน คือ งานที่ทำใจให้สูงขึ้นใ ห้ประเสริฐขึ้น ไม่ปล่อยให้ใจว่างงาน ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยาก เป็นทาสของกิเลสที่กลุ้มใจ จึงควรฝึกจิตไม่ให้ว่างงาน ด้วยการให้จิตอยู่ในกรรมฐาน

กรรมฐานในพระพุทธศาสนามี 2 ชนิด คือ

1. สมถกรรมฐาน คือ การทำใจให้สงบจากกิเลสประเภทนิวรณ์ที่กลุ้มรุมใจ ได้แก่ การทำสมาธินั่นเอง

2. วิปัสสนากรรมฐาน คือ การฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงจนทำลายกิเลสได้ และวิปัสสนากรรมฐานนี้มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น อานาปานสติสมาธิ ในที่นี้จะแสดงวิธีฝึกจิตประเภทแรก คือ การทำสมาธิ โดยใช้หลักสมถกรรมฐาน วิธีทำสมาธิในพระพุทธศาสนามีถึง 40 วิธี ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน เพื่อผู้ปฏิบัติได้เอาไปใช้ให้เหมาะกับโรคของคนไข้แต่ละคนฉะนั้น

แต่ในที่นี้จะหมายถึงการฝึกจิต โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เรียกกันว่า อานาปานสติภาวนา หรืออานาปานสติสมาธิ อันเป็นวิธีฝึกจิตอย่างหนึ่ง ในจำนวนหลักการฝึกสมาธิ 40 วิธีในพระพุทธศาสนา เพราะการฝึกจิตด้วยการกำหนดลมหายใจนี้ เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาและคนทั่วไปมาก ทั้งเป็นกรรมฐานที่ทำได้ด้วยกันทุกคน และทำได้ไม่ยากด้วย เพราะทุกคนมีลมหายใจอยู่แล้ว และในประเทศไทยเราก็นิยมฝึกจิตอานาปานสติมากที่สุด

Image

วิธีฝึก

ในที่นี้ จะนำวิธีฝึกอานาปานสติมากล่าวไว้แต่โดยย่อ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้สนใจจะได้นำไปใช้ได้โดยสะดวก ขั้นเตรียมการก่อนลงมือปฏิบัติ ผู้ฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนาในเบื้องต้นจะต้องทำสิ่งดังต่อไปนี้

1. สมาทานศีล การสมาทานศีลนี้ อย่างน้อยให้สมาทานศีล 5 โดยขอรับศีลจากภิกษุสามเณรก็ได้หรือตั้งวิรัติ คืองดเว้นเอาด้วยตนเองก็ได้ ถ้าหากข้อใดขาดก็อธิฐานงดเว้นเอาเองใหม่ ก็เป็นผู้มีศีลขึ้นตามเดิม เพราะศีลเป็นรากฐานสำคัญมากในการทำสมาธิ

2. ระลึกถึงคุณรัตนตรัย คือ ให้ประณมมือขึ้นแล้วตั้งจิตน้อมระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ยึดถือเป็นที่พึ่งที่ระลึก

3. แผ่เมตตา คือ แผ่ความปรารถนาดีไปยังมนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก โดยปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงปราศจากทุกข์และเป็นสุขโดยทั่วกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปลอดภัยจากศัตรู และจากการพยาบาทจองเวร

4. ตัดกังวล คือ เมื่อเริ่มทำสมาธินั้น ให้ตัดความกังวลต่างๆ ออกเสีย เช่น กังวลเรื่องงาน การเรียน ญาติพี่น้อง และอื่นๆ ให้ออกไปจากใจเสียชั่วคราว ในเวลาที่เราทำสมาธิไม่คิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่คิดถึงเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้คิดถึงปัจจุบัน คือ อารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลมหายใจเข้า-ออก จะกำหนดนั่งสักที่นาที เช่น 10 นาที 15 นาที หรือ 30 นาที ก็ขอให้ตัดความกังวลใจต่างๆ ออกไปตามกำหนดเวลานั้น โดยตั้งจิตอธิษฐานว่าจะคิดถึงอารมณ์ในปัจจุบันคือ ลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ใจลอย ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในขณะทำสมาธิ

5. กำหนดเวลาในการฝึก เวลาในการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดก็คือเวลาก่อนนอน หลังจากไหว้พระสวดมนต์แล้ว หรือเวลาตื่นนอน โดยใช้เวลาในการทำสมาธิแต่ละครั้ง 20-30 นาที ถ้าทำได้วันละ 2 ครั้ง ก็จะดีมาก แต่ถ้าทำในห้องเรียนหรือในห้องฝึกสมาธิ สำหรับนักเรียนแล้วควรใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาที ในการฝึกแต่ละครั้ง

Image

ขั้นลงมือฝึก

1. การนั่ง การนั่งสมาธินั้นจะนั่งบนพื้น หรือบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกกับสถานที่นั้นๆ หรือความนัดของแต่ละคน แต่สำหรับนักเรียนที่ฝึกในห้องเรียนก็ควรนั่งเก้าอี้ เพราะห้องเรียนอำนวยและการนั่งเก้าอี้ก็สะดวกกว่าการนั่งกับพื้นสำหรับผู้ ฝึกใหม่ แต่อย่าพิงพนักเก้าอี้ เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย

ถ้านั่งกับพื้น ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงนั่งพับเพียบก็ได้ หรือจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ตามแต่ถนัด โดยให้นั่งเหมือนพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ นั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย เอามือขวาทับมือซ้ายนั่งตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจเดินสะดวก กำหนดสติไว้ให้มั่นคงเพราะสติจำเป็นอย่างที่สุดในการทำสมาธิ ควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในภายนอก พร้อมกับมีคำบริกรรมกำกับเพื่อให้ใจมีเครื่องยึด คือ ภาวนาว่า พุทธ เมื่อหายใจเข้า และภาวนาว่า โธ เมื่อหายใจออก การนั่งควรหลับตาเพื่อป้องกันไม่ให้จิตฟุ้งซ่านออกไปทางตา แต่ถ้าผู้ใดนั่งหลับตามักจะง่วง ก็ให้นั่งลืมตามองเฉพาะที่ปลายจมูกของตนจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรก็ตาม ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา ทำไปเรื่อยๆ จนตาหลับไปเอง

2. กำหนดลมหายใจ การกำหนดลมหายใจนั้น ให้ทำตามลำดับขั้น ดังนี้

2.1 ขั้นวิ่งตามลม คือ เมื่อเริ่มกำหนดลมหายใจ ก็สูดลมหายใจเข้าให้แรงจนเต็มปอดประมาณ 3 ครั้ง เพื่อจะกำหนดการเข้า-ออกได้สะดวก ต่อจากนั้นก็ปล่อยลมหายใจเข้า-ออกตามสบาย อย่าบังคับลมหายใจ ปล่อยให้เข้าออกตามธรรมชาติ ทำใจให้สบาย เข้าก็ให้เข้าก็รู้ว่าเข้า ออกก็ให้รู้ว่าออก ยาวก็ให้รู้ว่ายาว สั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ดึงไปดึงมาเหมือนคนเลื่อยไม้ อย่าเกร็งตัว หายใจเข้าพร้อมกับภาวนาว่า "พุท" หายใจออกพร้อมกับภาวนาว่า "โธ"

โดยส่งใจกำหนดวิ่งตามลมไปตามจุดกำหนดทั้ง 3 จุด คือ ปลายจมูก 1 ท่ามกลางอก 1 ที่ท้อง 1 ปลายจมูกเป็นต้นลมของลมหายใจเข้า กลางอกเป็นท่ามกลาง ท้องเป็นที่สุดของลมออก
ท้องเป็นต้นของลมหายใจออก กลางอกเป็นท่ามกลาง ปลายจมูกเป็นที่สุดของลมหายใจออก
หรือกำหนดเพียง 2 จุดก็ได้ คือ ปลายจมูกกับที่ท้อง แล้วติดตามลมไปจนสุดปลายทั้ง 2 คอยระวังใจ (สติ) ให้จับอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ให้เหมือนคนไกวเปลเฝ้าดูเด็ก ต้องคอยจ้องตามเปลที่แกว่งไปสุดข้างทั้ง 2 แต่ละข้าง เพื่อคอยดูไม่ให้เด็กดิ้นหลุดตกลงมาจากเปลและเพื่อให้หลับในที่สุด

ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกันต้องคอยควบคุมจิตใจไม่ให้ดิ้นไปข้างนอก และคอยควบคุมให้มันสงบลงในที่สุดด้วย โดยใช้เปลคือลมหายใจเป็นเครื่องกล่อม เมื่อสามารตามลมได้ตลอดเวลาจนจิตไม่ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอกแล้ว ก็ชื่อว่าทำสำเร็จในขั้นที่หนึ่ง

2.2 ขั้นกำหนดอยู่ที่จุดแห่งหนึ่ง เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยคอยตามลมไปจนจิตไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอกแล้ว ก็ให้เปลี่ยนมากำหนดจิตไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งในจุด ทั้ง 3 คือ ที่ปลายจมูก ท่ามกลางอก และที่ท้องตามที่กำหนดได้ถนัด ไม่ต้องวิ่งตามลมเหมือนขั้นแรก แต่ที่นิยมกันส่วนมาก คือ คอยจับอยู่ที่เฉพาะปลายจมูกเท่านั้น เหมือนกับนายโคบาล (คนเลี้ยงวัว) ที่ฉลาด เมื่อปล่อยวัวออกจากคอกแต่เช้าแล้ว ก็ไม่ต้องตามหลังมันตลอดเวลา แต่ไปนั่งรออยู่ที่ท่าน้ำหรือแหล่งน้ำที่วัวจะต้องลงกินในเวลาเย็นทุกวัน แล้วก็จับต้อนเข้าคอกได้โดยสะดวก ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาที่ต้องคอยตามหลังวัวอยู่ตลอดเวลา

ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกัน กำหนดอยู่ที่ปลายจมูกไม่ไปไหน คอยจับอยู่ที่ปลายจมูกเพียงแห่งเดียว เพราะเมื่อลมหายใจเข้าแล้ว ก็ต้องออกทางนี้แน่นอน ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป หรือผู้ใดเห็นว่าในขั้นตามลมนั้นตนชำนาญแล้ว ก็ข้ามมาขั้นที่สองนี้เลย เมื่อจิตกำหนดอยู่เฉพาะปลายจมูก ไม่ฟุ้งซ่านไปข้างนอกแล้ว ชื่อว่าสำเร็จในขั้นที่สอง ขั้นวิ่งตามลมในขั้นที่หนึ่งนั้น ลมหายใจยังหยาบอยู่ แต่ในขั้นที่สองนี้ลมหายใจจะละเอียดมาก จนบางครั้งไม่รู้ว่ามีลมกระทบส่วนในส่วนหนึ่งของร่างกายเลย เหมือนกับไม่มีลมหายใจ อันแสดงว่าจิตเริ่มสงบมากแล้ว

แต่ต้องพยายามกำหนดในขณะให้หายใจเข้า-ออกให้ได้ตลอดเวลา ก็จะเพิ่มความสงบสุขและพลังให้แก่จิตได้มากทีเดียว ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่าได้สมาธิดีพอสมควร ส่วนขั้นสูงขึ้นไปกว่านี้ ผู้สนใจจะศึกษาได้จากอาจารย์กรรมฐานหรือหนังสือกรรมฐานทั่วไป

Image

การกำหนดลมหายใจด้วยการนับ

หากท่านผู้ใดฝึกสมาธิด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลดี หรือสามารทำได้ดีแล้ว แต่ต้องการจะหาวิธีใหม่บ้าง ก็ลองหันมากำหนดลมหายใจด้วยการนับ ก็อาจจะได้ผลดีหรือได้ผลเพิ่มขึ้น เพราะอุปนิสัยของแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน การกำหนดลมหายใจด้วยการนับนี้ เรียกว่า คณนา-การนับ โดยส่งใจไปกำหนดนับอยู่ปลายจมูกแห่งเดียว หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก

คณนา-การนับ มีอยู่ 2 วิธี คือ

1. การนับอย่างช้า
2. การนับอย่างเร็ว

การนับอย่างช้า คือ เมื่อผู้ฝึกได้เตรียมการเบื้องต้นต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และเข้านั่งประจำที่ในการฝึกพร้อมแล้ว ก็ให้เริ่มนับ (นับแต่เพียงในใจ) โดยนับเป็นคู่ๆ ดังนี้

รอบที่หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า

แล้วเริ่มนับถอยมาจาก ห้า-ห้า จนถึงหนึ่ง ใหม่ ดังนี้
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง

รอบที่สอง
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง หก-หก แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก หก-หก มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก

รอบที่สาม
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เจ็ด-เจ็ด แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก เจ็ด-เจ็ด มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก

รอบที่สี่
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง แปด-แปด แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก แปด-แปด มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก

รอบที่ห้า
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เก้า-เก้า แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก เก้า-เก้า มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก

รอบที่หก
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง สิบ-สิบ แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก สิบ-สิบ มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก

เมื่อนับครบทุกรอบแล้ว ให้กลับมานับตั้งแต่รอบที่หนึ่งอีก นับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้จนการนับไม่หลงลืม และไม่ข้ามลำดับ จนนับได้คล่องแคล่ว ลมหายใจเข้าออกปรากฏชัด ทำให้จิตสงบดีขึ้น ก็จะได้ผลดีในการฝึกจิตในเบื้องต้น

การนับอย่างเร็ว เมื่อสามารถฝึกจิตด้วยการนับอย่างช้าได้ดีแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้เปลี่ยนมาเป็นการนับอย่างเร็ว เพราะเมื่อนับอย่างช้าได้คล่องแคล่ว แล้วจะปรากฏว่าลมหายใจเข้าออกเดินได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อน เมื่อผู้ปฏิบัติทราบว่าลมหายใจเป็นไปเร็วเช่นนี้ ก็ให้ทิ้งการนับอย่างช้ามากำหนดนับอย่างเร็ว โดยไม่ใส่ใจหรือไม่คำนึงถึงลมหายใจเข้า-ออก

คอยกำหนดเฉพาะลมหายใจที่มากระทบจมูกเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องนับเป็นคู่ แต่นับเรียงลำดับไปตามตัวเลขอย่างน้อย 1-5 อย่างมาก 1-10 ดังนี้

1. 2. 3. 4. 5. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. 10. (เข้า-ออก)

เมื่อนับถึง 10 แล้ว ก็ให้กลับมาตั้งรอบที่หนึ่งอีก นับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้ จนการนับไม่หลงลืม ไม่ข้ามลำดับ เป็นไปคล่องไม่สับสน จนกระทั้งจิตสงบลงไปได้ไม่ฟุ้งซ่าน หรือสามารถรวมเข้าดีแล้วก็เลิกนับ มากำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากข้างบนเท่านั้น จึงนับว่าสำเร็จในขั้นนี้

อนึ่ง ในการนับนี้มีกฎอยู่ว่า ไม่ควรนับให้ต่ำกว่า 5 ไม่ควรนับให้เกินกว่า 10 และไม่ควรนับให้ข้ามลำดับ เพราะว่าถ้านับต่ำกว่า 5 ใจจะกระวนกระวายอยู่ในที่แคบ เหมือนฝูงโคที่แออัดอยู่ในคอกที่คับแคบ ถ้านับเกินกว่า 10 ใจก็จะมุ่งแต่การนับมากกว่ากำหนดลมหายใจ และถ้านับข้ามลำดับ ใจก็จะคิดกังวลไปว่า กรรมฐานถึงที่สุดแล้วหรือยังไม่ถึง ซึ่งจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรจะเว้นข้อห้ามดังกล่าวเสีย การฝึกจิตด้วยการนับนี้ เป็นการฝึกจิตให้สงบได้วิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีฝึกจิตที่ได้ผลอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ขอแนะนำว่า การฝึกสมาธิที่จะได้ผลดีนั้น จะต้องมีอาจารย์เป็นผู้คอยแนะนำและควบคุม เพราะการฝึกโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือโดยไม่มีอาจารย์ควบคุมแนะนำนั้น อาจจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย หรืออาจจะเกิดผลเสียก็ได้

ฉะนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงมีความสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกสมาธิ และการฝึกนั้นก็ต้องค่อยทำค่อยไป อย่าฝึกด้วยความหักโหม และควรฝึกเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย จึงจะได้ผลดี คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจึงจะเข้าใจได้ซาบซึ้ง ไม่ใช่เพียงแต่การคิดเอา ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว พระธรรมที่ประพฤติแล้ว ก็ย่อมจะรักษาผู้ประพฤติธรรมให้มีความสุขความเจริญได้อย่างแน่นอน

Image
ข้อที่ควรเว้นสำหรับผู้ฝึกอบรมสมาธิ

1. ความกังวล
2. คนที่มีจิตใจไม่มั่นคง
3. การอ่านหนังสือที่ทำให้จิตใจห่างต่อความสงบ
4. การงานหรืออาชีพที่ทำให้ห่างต่อความสงบ
5. ป่วยหนัก
6. ร่างกายกระวนกระวาย
7. หิวหรือกระหายมากเกินไป
8. อิ่มมากเกินไป
9. ง่วงมากเกินไป
10. สถานที่อยู่ร้อนมาก หรือหนาวมากเกินไป
11. สถานที่อยู่มีเสียงอึกทึกมากเกินไป
12. สถานที่บำเพ็ญมีคนพูดคุยกัน
13. เกียจคร้าน
14. ไม่ตั้งใจ
15. ทำผิดวินัย
16. การไม่ยึดอารมณ์ปัจจุบัน
17. ความเพียรมากเกินไป
18. ใจลอย
19. การงานมากเกินไป
20. แก่มากเกินไป

Image

หลัก 7 ประการที่จำเป็นในการเจริญอานาปานสติ

1. ต้องนั่งตัวตรง คือ อกยืด ไหล่ตรง และคอตรง

2. อย่านั่งเกร็งตัว ให้คลายเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ โดยทำใจให้สบายและเบิกบาน เพราะการเกร็งตัวจะทำให้ปวดเมื่อย และมึนศรีษะได้ง่าย

3. จงให้สัญญาแก่ตัวเองว่า จะนั่งให้ได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ จะไม่ส่งจิตออกนอกกาย หรือเลิกปฏิบัติก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีใจเด็ดเดี่ยวในการบำเพ็ญ

4. จงตั้งอธิษฐานยึดเอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพื่อให้เกิดความสวัสดีในการบำเพ็ญ พร้อมกับกล่าวคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทุกครั้งที่เริ่มบำเพ็ญ เพื่อสร้างศรัทธาให้ใจมั่นคงหนักแน่น และเกิดการคุ้มครองในขณะนั่งสมาธิ

5. อย่าบังคับลมหายใจให้สั้นหรือยาว ให้เข้าหรือออก เพราะจะทำให้มึนงงศรีษะได้ แต่ปล่อยลมหายใจไปตามธรรมชาติ โดยมีสติจับอยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา

6. จงตัดความกังวล หรือความห่วงใยทุกประเภทให้หมดในขณะนั่งสมาธิ เพื่อป้องกันการใจลอย

7. อย่าส่งจิตออกนอกกายไปคิดถึงเรื่องอดีต หรือเรื่องอนาคต แต่จะมีสติจับอยู่ที่ปัจจุบันคือลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เพราะปัจจุบันสำคัญมากในการฝึกจิต



การ ทำสมาธิเบื้องต้น ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ ทำวัตรสวดมนต์บูชาพระ เจริญพรหมวิหาร 4 และสมาทานกรรมฐาน เดินสมาธิหรือเดินจงกรม การเดินสมาธิหรือเดินจงกรม เหมาะสำหรับคนที่มักมีความคิดฟุ้งมาก พระพุทธองค์กล่าวว่า ประโยชน์ของการเดินจงกรม มีดังนี้คือ

-- ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย
-- ทำให้ขาแข็งแรงเดินได้ทนและไกล
-- เมื่อทำหลังอาหารทำให้อาหารย่อยง่าย
-- สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมจะอยู่ได้นาน


วิธีการเดินสมาธิหรือเดินจงกรม

เลือกสถานที่ยาวประมาณ 5 เมตร ถึง 10 เมตร แล้วแต่ความกว้างของสถานที่ และความรู้สึกพอดี บางทียาวนักก็ไม่ดี เหนื่อย บางครั้งสั้นไปก็ทำให้เวียนหัว หันหน้าไปทางเดินจงกรม แต่อย่ามองไกลเกินไป มองทอดสายตาดู ไปข้างหน้าประมาณ 4 ก้าวเพื่อไม่ให้จิตใจวอกแวก แต่ไม่ใกล้เกินไป จนรู้สึกปวดต้นคอ มือซ้ายมาวางที่หน้าท้องและมือขวามาวางทับ เพื่อป้องกันแขนแกว่งขณะเดิน และดูสวยงาม

เมื่อได้ท่าที่พอดีแล้วก็เดินก้าวขาขวาไป ก็นึกคำว่า "พุท" และเมื่อก้าวขาซ้ายไปก็นึก คำว่า "โธ" เวลาเดินไม่หลับตาแต่ให้ลืมตา และกำหนดสัมผัสของเท้าที่ก้าวเหยียบลงพื้น เดินว่าพุทโธไปเรื่อย พอถึงปลายทาง เดินก็หยุดนิดหนึ่ง แล้วก็หันกลับด้านขวามือ มาทางเดิม และเดินว่าพุทโธต่อไป อย่าเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป กำหนดจิตของเราอยู่ที่ก้าวเดินและคำภาวนา ไม่ให้จิตวอกแวก

สิ่งสำคัญคือ การกำหนดจิตให้ทันการเคลื่อนไหว ส่วนการเดินเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เราควรทำอย่างน้อย 30 นาที และจะดีมากขึ้นถ้าตามด้วยการนั่งสมาธิ เพราะการเดินจงกรม เป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ปล่อยอารมณ์ และเตรียมร่างกายให้พร้อมสู่การนั่งสมาธิ


อิริยาบถนั่งสมาธิ

นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางลงบนตัก ตั้งกายตรง (ไม่นั่งก้มหน้า ไม่นั่งเงยหน้า ไม่นั่งเอียงซ้าย ไม่เอียงขวา ไม่โยกหน้า ไม่โยกหลัง) ไม่กดและข่มอวัยวะในร่างกาย วางกายให้สบายๆ ตั้งจิตให้ตรง ลงตรงหน้า กำหนดรู้ซึ่งจิตเฉพาะหน้า ไม่ส่งจิตให้ฟุ้งซ่าน ไปในเบื้องหน้า-เบื้องหลัง (อนาคตและอดีต) พึงเป็นผู้มีสติ กำหนดจิตรวมเข้าตั้งไว้ในจิต บริกรรม "พุทโธ" จนกว่าจะเป็นเอกัคคตาจิต


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี